ReutersReuters

JAPAN:คาดบีโอเจจะปรับนโยบายในอนาคต,จะส่งผลให้ตลาดเงิน,บอนด์ผันผวนมาก

ลอนดอน--19 ม.ค.--รอยเตอร์

  • ถึงแม้ธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ประกาศคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษไว้ตามเดิมในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 17-18 ม.ค. นักลงทุนก็คาดการณ์ว่า บีโอเจจะปรับนโยบายครั้งใหญ่ในอนาคตอย่างแน่นอน เพียงแต่นักลงทุนไม่แน่ใจว่าจะปรับนโยบายดังกล่าวเมื่อใด ในขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องปรับนโยบายการเงินอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เพราะว่าอัตราเงินเฟ้อของญี่ปุ่นพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 41 ปีในช่วงนี้ และค่าใช้จ่ายในการควบคุมต้นทุนการกู้ยืมให้อยู่ในระดับต่ำก็พุ่งสูงขึ้น โดยนักลงทุนคาดการณ์อีกด้วยว่า การปรับนโยบายการเงินครั้งใหญ่ของบีโอเจในอนาคตจะส่งผลให้ตลาดปริวรรตเงินตราและตลาดพันธบัตรทั่วโลกแกว่งตัวผันผวนเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นายโคซิโม มาราสซิวโล จากบริษัทอามุนดี ซึ่งเป็นบริษัทจัดการกองทุนที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปกล่าวว่า "ถึงแม้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่าบีโอเจจะปรับนโยบายเมื่อใด เราก็ยังคงคาดการณ์ตามเดิมว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องปรับนโยบายในอนาคต" และเขากล่าวเสริมว่า อามุนดียังคงลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า เยนจะแข็งค่าขึ้น และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) จะพุ่งสูงขึ้น

  • นายคริสโตเฟอร์ เจฟฟรีย์ หัวหน้าฝ่ายแผนยุทธศาสตร์การลงทุนอัตราดอกเบี้ยและภาวะเงินเฟ้อของบริษัทลีกัล แอนด์ เจเนอรัล อินเวสท์เมนท์ แมเนจเมนท์ (LGIM) กล่าวว่า "สิ่งที่บีโอเจทำกับมาตรการควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทน (YCC) ในตอนนี้ไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถทำได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว" โดยข้อมูลของ LGIM แสดงให้เห็นว่า บีโอเจใช้เงินไปแล้วราว 2.64 แสนล้านดอลลาร์นับตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.เป็นต้นมาในการเข้าซื้อ JGB เพื่อควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยิลด์) ตามนโยบาย YCC ทั้งนี้ ธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ระบุในวันพุธว่า ทางธนาคารคาดว่า เยนจะแข็งค่าขึ้น และคาดว่าบีโอเจจะขยายกรอบความเคลื่อนไหวสำหรับอัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปีออกสู่ระดับ -1% จนถึง +1% ในเดือนมี.ค. โดยขยายออกจากกรอบ -0.5% จนถึง +0.5% ในปัจจุบัน ทางด้านอัตราผลตอบแทน JGB อายุ 10 ปีเพิ่งพุ่งขึ้นแตะ 0.545% ในวันศุกร์ที่ 13 ม.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่กลางปี 2015 และอยู่ที่ระดับราว 0.405% ในปัจจุบัน

  • ดอลลาร์สหรัฐ/เยนพุ่งขึ้น 2.7% ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพุธ จนแตะจุดสูงสุดของวันพุธที่ 131.58 เยน หลังจากบีโอเจประกาศคงนโยบายการเงินไว้ตามเดิม แต่ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 0.60% สู่ 128.11 เยนในวันนี้ จาก 128.88 เยนในช่วงท้ายวานนี้ ในขณะที่เยนได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า บีโอเจจะทยอยยกเลิกนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษในอนาคต โดยการปรับนโยบายดังกล่าวอาจจะเกิดขึ้นหลังจากนายฮารุฮิโกะ คุโรดะ ลงจากตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจในเดือนเม.ย.ปีนี้ อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่เป็นที่แน่นอนว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะเลือกใครให้มาดำรงตำแหน่งผู้ว่าการบีโอเจคนใหม่ต่อจากนายคุโรดะ ทั้งนี้ ถ้าหากเยนพุ่งขึ้นต่อไป นักวิเคราะห์ก็คาดว่าตลาดปริวรรตเงินตราต่างประเทศที่มีมูลค่าการซื้อขาย 7.5 ล้านล้านดอลลาร์ต่อวันก็จะแกว่งตัวผันผวนต่อไปด้วย หลังจากเยนทะยานขึ้นมาแล้วเกือบ 18% นับตั้งแต่เดือนต.ค. 2022 โดยนายคิท จัคส์ จากธนาคารโซซิเอเต เจเนอราลกล่าวว่า "มีนักลงทุนจำนวนมากที่เต็มใจจะลงทุนตามการคาดการณ์ที่ว่า เยนจะพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป" อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์บางรายกล่าวว่า ถ้าหากตลาดแกว่งตัวผันผวนมากยิ่งขึ้น ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัยได้ด้วยเช่นกัน ดังนั้นการปรับนโยบายการเงินของบีโอเจในอนาคตจึงอาจจะไม่ส่งผลกระทบที่ชัดเจนมากนักต่ออัตราแลกเปลี่ยนสกุลเงินสำคัญ

  • ในส่วนของตลาดพันธบัตรนั้น การคาดการณ์ที่ว่าบอนด์ยิลด์ของญี่ปุ่นจะพุ่งสูงขึ้นในอนาคต จะส่งผลให้นักลงทุนชาวญี่ปุ่นโอนย้ายเงินลงทุนกลับเข้ามาในญี่ปุ่น และอาจจะส่งผลให้นักลงทุนญี่ปุ่นลดความต้องการซื้อพันธบัตรต่างประเทศลงเป็นเวลานานด้วย ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงเกินคาดได้ในอนาคต เพราะว่าหลายฝ่ายเคยประเมินความเสี่ยงในเรื่องนี้ต่ำจนเกินไปในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะธนาคารกลางสำคัญที่เริ่มต้นระบายพันธบัตรที่ถือครองไว้ออกมาในช่วงนี้ โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการคุมเข้มทางการเงิน และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ที่ปรับเพิ่มปริมาณการออกจำหน่ายพันธบัตรขึ้นเป็นอย่างมาก ทั้งนี้ นักลงทุนสถาบันของญี่ปุ่นที่ไม่รวมทุนสำรอง 1 ล้านล้านดอลลาร์ของรัฐบาลญี่ปุ่น เคยถือครองตราสารหนี้ต่างประเทศเป็นมูลค่ารวมกันราว 3 ล้านล้านดอลลาร์ และถึงแม้ว่าปริมาณการถือครองดังกล่าวปรับลดลงในช่วงที่ผ่านมา ปริมาณการถือครองดังกล่าวก็ยังคงอยู่สูงกว่าระดับ 2 ล้านล้านดอลลาร์เป็นอย่างมาก ในขณะที่ตลาดพันธบัตรรัฐบาลทั่วโลกมีขนาดสูงเกือบถึง 70 ล้านล้านดอลลาร์

  • ถ้าหากนักลงทุนญี่ปุ่นปรับลดการถือครองพันธบัตรต่างประเทศ ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรเป็นอย่างมาก เนื่องจากนักลงทุนญี่ปุ่นถือเป็นนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐ และถือเป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติรายใหญ่ที่สุดที่ถือครองพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียและฝรั่งเศส โดยญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐเป็นมูลค่าสูงกว่า 1 ล้านล้านดอลลาร์ หรือครองสัดส่วนสูงกว่า 4% ในตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐที่มีขนาด 24 ล้านล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ ธนาคาร UBS ยังประเมินอีกด้วยว่า นักลงทุนญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสอย่างน้อย 10% ในตลาดพันธบัตรรัฐบาลฝรั่งเศสที่มีขนาด 2.3 ล้านล้านยูโร (2.45 ล้านล้านดอลลาร์) และนักลงทุนญี่ปุ่นถือครองพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลียราว 2.60 แสนล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย (1.8114 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ) หรือราว 19% ของตลาดพันธบัตรรัฐบาลออสเตรเลีย ทั้งนี้ นักวิเคราะห์คาดว่า นักลงทุนญี่ปุ่นไม่มีแนวโน้มที่จะเทขายพันธบัตรต่างชาติออกมาอย่างรวดเร็ว เพราะการทำเช่นนั้นจะส่งผลให้นักลงทุนขาดทุนเป็นอย่างมาก อย่างไรก็ดี นักลงทุนญี่ปุ่นเพิ่งขายสุทธิพันธบัตรต่างชาติเป็นมูลค่า 2.1 ล้านล้านเยน (1.594 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในเดือนธ.ค. ซึ่งถือเป็นการเทขายสุทธิเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้