ReutersReuters

DJIA:ตลาดหุ้นนิวยอร์ค:ตัวเลขศก.อ่อนแอกดหุ้นสหรัฐดิ่งลงรุนแรง

นิวยอร์ค--19 ม.ค.--รอยเตอร์

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดดิ่งลงอย่างรุนแรงในวันพุธ หลังจากมีการรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอหลายตัวในสหรัฐ และตัวเลขดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนกังวลกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย นอกจากนี้ ตลาดหุ้นสหรัฐก็ได้รับแรงกดดันจากการที่เจ้าหน้าที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) หลายคนแสดงความเห็นแบบสายเหยี่ยวในวันพุธด้วย ทั้งนี้ สหรัฐรายงานว่า ยอดค้าปลีกดิ่งลง 1.1% ในเดือนธ.ค. หลังจากรูดลง 1.0% ในเดือนพ.ย. และเทียบกับโพลล์รอยเตอร์ที่คาดว่า ยอดค้าปลีกอาจปรับลดลงเพียง 0.8% ในเดือนธ.ค. โดยยอดค้าปลีกได้รับแรงกดดันจากการดิ่งลงของยอดขายยานยนต์และสินค้าอื่น ๆ ส่วนกระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) สำหรับอุปสงค์ขั้นสุดท้ายร่วงลง 0.5% ในเดือนธ.ค. หลังจากปรับขึ้น 0.2% ในเดือนพ.ย. นอกจากนี้ เฟดยังรายงานในวันพุธอีกด้วยว่า ผลผลิตภาคโรงงานของสหรัฐดิ่งลง 1.3% ในเดือนธ.ค. ถึงแม้โพลล์รอยเตอร์คาดไว้ก่อนหน้านี้ว่า ผลผลิตภาคโรงงานอาจปรับลดลงเพียง 0.3% ในเดือนธ.ค.

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดดิ่งลง 1.81% สู่ 33,296.96 ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค., ดัชนี S&P 500 ปิดรูดลง 1.56% สู่ 3,928.86 ซึ่งถือเป็นการรูดลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. ส่วนดัชนี Nasdaq ปิดดิ่งลง 1.24% สู่ 10,957.01 ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดในแดนลบเป็นครั้งแรกในรอบ 8 วันทำการ ทั้งนี้ หุ้นกลุ่มปลอดภัยดิ่งลงอย่างรุนแรง โดยหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นดิ่งลง 2.7% และถือเป็นกลุ่มที่รูดลงมากที่สุด ส่วนหุ้นกลุ่มสาธารณูปโภคดิ่งลง 2.4% ทางด้านหุ้นเติบโตปรับลงไม่มากนักในวันพุธ โดยหุ้นกลุ่มบริการการสื่อสารร่วงลงเพียง 0.9% และหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับลงเพียง 1.3%

  • นางลอเรตตา เมสเตอร์ ประธานเฟดสาขาคลีฟแลนด์กล่าวว่า เฟดจำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสู่ระดับที่สูงกว่ากรอบ 5.00-5.25% เล็กน้อย เพื่อจะได้ควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ส่วนนายเจมส์ บูลลาร์ด ประธานเฟดสาขาเซนต์หลุยส์กล่าวว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับที่สูงกว่า 5% "โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ก่อนที่จะหยุดพักจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทางด้านนายแพทริค ฮาร์เคอร์ ประธานเฟดสาขาฟิลาเดลเฟียกล่าวว่า เขาคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2-3 ครั้งในปีนี้ แต่เขาพร้อมสำหรับการที่เฟดจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เนื่องจากมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อลดระดับลง ทั้งนี้ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดสวนทางกับการคาดการณ์ของนักลงทุนในตลาด เพราะนักลงทุนคาดว่า อัตราดอกเบี้ยสหรัฐอาจจะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรที่ระดับเพียง 4.88% ในเดือนมิ.ย.ปีนี้ นอกจากนี้ เทรดเดอร์ยังคาดการณ์กันอีกด้วยว่า มีโอกาส 93.7% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ. และมีโอกาสเพียง 6.3% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.75-5.00% ในการประชุมวันที่ 31 ม.ค.-1 ก.พ.

  • นักลงทุนจับตาดูฤดูการรายงานผลประกอบการไตรมาสสี่ในช่วงนี้ เพื่อดูว่าบริษัทสหรัฐมีผลประกอบการเป็นอย่างไรในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยพุ่งสูงขึ้น โดยนักวิเคราะห์คาดการณ์ในตอนนี้ว่า ผลกำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 อาจดิ่งลง 2.6% ในไตรมาสสี่ หลังจากที่เคยคาดการณ์ในช่วงต้นปีนี้ว่า ผลกำไรอาจปรับลดลงเพียง 1.6% ในไตรมาสสี่

  • นายไมเคิล เรย์โนลด์ รองประธานฝ่ายแผนยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทเกลนมีดกล่าวว่า "ดูเหมือนนักลงทุนเริ่มหันมามองว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ หลังจากนักลงทุนเคยคาดการณ์อย่างผิดพลาดในช่วงก่อนหน้านี้ว่า มีความเป็นไปได้สูงที่เศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป" ทั้งนี้ นายแซม สโตวอลล์ หัวหน้านักยุทธศาสตร์การลงทุนของบริษัทซีฟรา รีเสิร์ชกล่าวว่า หลังจากตลาดหุ้นสหรัฐพุ่งขึ้นในช่วงต้นปี 2023 นักลงทุนบางรายก็ฉวยโอกาสเทขายหุ้นเพื่อทำกำไรในวันพุธ หลังจากมีการเปิดเผยตัวเลขเศรษฐกิจที่อ่อนแอ และเขากล่าวเสริมว่า "มีคำสั่งซื้อเข้ามาในตลาดหุ้นมากเกินไปในช่วงก่อนหน้านี้ และตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในวันพุธก็กระตุ้นให้นักลงทุนเทขายทำกำไรหุ้นกลุ่มที่เคยพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในปีที่แล้ว"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้