ReutersReuters

USA:ชี้ผู้บริโภคสหรัฐกังวลกับเงินเฟ้อแม้ยังคงมีเงินออมสูง

• นายจอห์น เคมป์ นักวิเคราะห์ตลาดของรอยเตอร์ระบุว่า ภาคครัวเรือนสหรัฐในปัจจุบันนี้มีฐานะการเงินดีกว่าในช่วงก่อนเกิดวิกฤติโรคระบาด แต่การพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อส่งผลลบต่อฐานะการเงินดังกล่าว และส่งผลให้ผู้บริโภคสหรัฐเกิดความกังวลและแสดงความไม่พอใจต่อการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าและบริการ ทั้งนี้ ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ระบุว่า ภาคครัวเรือนและองค์การไม่แสวงหาผลกำไรในสหรัฐครอบครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเป็นมูลค่ารวมกัน 18.5 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2022 โดยเพิ่มขึ้นจาก 14.3 ล้านล้านดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2019 หลังจากปรับตามภาวะเงินเฟ้อแล้ว โดยสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูง ได้แก่ เงินและยอดเงินคงเหลือในบัญชีเช็ค, บัญชีเงินฝากประจำ และกองทุนตลาดเงิน ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่พร้อมสำหรับการนำออกมาใช้จ่าย

• สินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงเพิ่มสูงขึ้นในอัตราสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในปี 2020 และ 2021 เนื่องจากวิกฤติโรคระบาดส่งผลให้มีการประกาศใช้ข้อจำกัดด้านการเดินทางและข้อจำกัดต่อกิจกรรมทางสังคม และเนื่องจากรัฐบาลกลางสหรัฐดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนาดใหญ่ด้วย โดยในช่วงที่มีการประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างเข้มงวดที่สุดในช่วงไตรมาสที่สองของปี 2020 และไตรมาสแรกของปี 2021 นั้น ภาคครัวเรือนสหรัฐออมเงินในอัตราปีละ 4-5 ล้านล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี มูลค่าที่แท้จริง (หรือที่ปรับตามภาวะเงินเฟ้อ) ของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงทรงตัวหรือร่วงลงในช่วงระยะนี้ โดยเป็นผลจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้น และเป็นผลจากการที่ประชาชนสามารถออกเดินทางท่องเที่ยวและดำเนินกิจกรรมทางสังคมต่าง ๆ ได้อีกครั้ง ทั้งนี้ มูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2022 ปรับลดลงเพียงเล็กน้อยจากระดับ 18.7 ล้านล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2021 และมีแนวโน้มว่ามูลค่าที่แท้จริงดังกล่าวอาจดิ่งลงอย่างรุนแรงนับตั้งแต่เข้าสู่ไตรมาส 2 ของปีนี้เป็นต้นมา เพราะว่าสหรัฐได้ยกเลิกมาตรการจำกัดการเดินทางเกือบทั้งหมด และอัตราเงินเฟ้อพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 40 ปี

• นายเคมป์ระบุว่า ถึงแม้ภาคครัวเรือนของสหรัฐยังคงครอบครองสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่องสูงในปริมาณมาก สินทรัพย์ดังกล่าวก็มีมูลค่าดิ่งลงอย่างรวดเร็วในช่วงนี้ และภาวะดังกล่าวคือสาเหตุที่ส่งผลให้ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูง แต่ผู้บริโภคระบุว่าภาวะเงินเฟ้อคือสิ่งที่สร้างความกังวลมากที่สุด และระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐกำลังปรับตัวไปในทิศทางที่ผิดพลาด ทั้งนี้ ประเด็นที่ว่าปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐจะยังคงอยู่ในระดับสูงได้ต่อไปหรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับว่าภาคครัวเรือนมุ่งความสนใจไปยังมูลค่าสินทรัพย์ที่แท้จริงของตนเองซึ่งยังคงอยู่ในระดับสูง หรือว่าจะมุ่งความสนใจไปยังการดิ่งลงอย่างรวดเร็วของมูลค่าสินทรัพย์ดังกล่าว

• มหาวิทยาลัยมิชิแกนรายงานในวันศุกร์ที่ผ่านมาว่า ผู้บริโภคสหรัฐปรับลดการคาดการณ์เงินเฟ้อลงในช่วงต้นเดือนก.ค. โดยผู้บริโภคคาดว่าอัตราเงินเฟ้ออาจจะอยู่ที่ 2.8% ในช่วง 5 ปีข้างหน้า ซึ่งถือเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำสุดในรอบ 1 ปี และปรับลดลงจาก 3.1% ที่เคยคาดไว้ในช่วงปลายเดือนมิ.ย. ส่วนการคาดการณ์เงินเฟ้อสำหรับช่วง 1 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 5.2% ในเดือนก.ค. โดยปรับลดลงจาก 5.3% ที่เคยคาดไว้ในเดือนมิ.ย. โดยระดับ 5.2% นี้ถือเป็นตัวเลขคาดการณ์ต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. อย่างไรก็ดี ตัวเลขคาดการณ์ดังกล่าวยังคงอยู่สูงกว่าระดับเป้าหมายที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ตั้งไว้ที่ 2% ทั้งนี้ สัดส่วนของครัวเรือนสหรัฐที่บอกว่าพวกเขามีฐานะการเงินดีกว่าปีก่อนลดลงเหลือ 37% ในเดือนพฤษภาคม 2022 จาก 42% ในเดือนพฤษภาคม 2021 ในขณะที่สัดส่วนครัวเรือนที่บอกว่าพวกเขามีฐานะแย่ลงพุ่งขึ้นสู่ 46% ในเดือนพ.ค.ปีนี้ จาก 22% ในเดือนพ.ค.ปีที่แล้ว

• ในบรรดาประชากรสหรัฐที่บอกว่าตนเองมีฐานะแย่ลงนั้น ประชากร 38% ระบุว่าสาเหตุเกิดจากราคาที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นเหตุผลที่ได้รับการอ้างถึงมากที่สุด ในขณะที่มีประชากรเพียง 34% ที่ระบุว่ารายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้ตนเองมีฐานะการเงินดีขึ้น ทั้งนี้ ในกลุ่มประชากรที่มีรายได้ต่ำสุด 33% ของสหรัฐนั้น ส่วนต่างดังกล่าวอยู่ในระดับที่กว้างมาก โดยมีประชากร 39% ในกลุ่มนี้ที่ระบุว่าราคาที่สูงขึ้นส่งผลให้ตนเองมีฐานะย่ำแย่ลง และมีประชากรเพียงแค่ 25% ในกลุ่มนี้ที่บอกว่า รายได้ที่สูงขึ้นส่งผลให้ตนเองมีฐานะการเงินดีขึ้น--จบ--

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้