ReutersReuters

ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองพุ่งขึ้นเกือบ 2% ขณะดอลล์ดิ่งลง

นิวยอร์ค--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐพุ่งขึ้น 34.44 ดอลลาร์ หรือ 1.95% สู่ 1,802.89 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยสามารถทะยานขึ้นเหนือระดับสำคัญที่ 1,800 ดอลลาร์ได้สำเร็จ และขึ้นไปแตะระดับ 1,803.94 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 10 ส.ค. ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง โดยดอลลาร์ได้รับแรงกดดันจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และได้รับแรงกดดันจากอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐที่ชะลอตัวลงด้วย ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.66 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยรูดลงจาก 105.78 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากดิ่งลงแตะ 104.56 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 3 เดือน โดยการดิ่งลงของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาถูกลงสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดพุ่งขึ้น 3.1% สู่ 1,815.2 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดทะยานขึ้น 0.570 ดอลลาร์ หรือ 2.57% สู่ 22.765 ดอลลาร์/ออนซ์ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 22.784 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ค. ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 8.60 ดอลลาร์ สู่ 1,041.32 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดพุ่งขึ้น 60.45 ดอลลาร์ หรือ 3.21% สู่ 1,941.48 ดอลลาร์/ออนซ์

  • นายจิม วิคคอฟ นักวิเคราะห์ของบริษัทคิทโค เมทัลส์กล่าวว่า ราคาทองได้รับแรงหนุนจากคำสั่งซื้อตามปัจจัยทางเทคนิค ในขณะที่นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดส่งสัญญาณแบบสายพิราบ และถ้อยแถลงของนายพาวเวลล์ก็ช่วยหนุนตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ รวมทั้งส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงด้วย ทั้งนี้ นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวที่สถาบันบรูคกิงส์ในกรุงวอชิงตันในวันพุธว่า เฟดอาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. โดยเขากล่าวว่า "เราคิดว่าการชะลอความเร็วในจุดนี้จะเป็นหนทางที่ดีในการรักษาสมดุลความเสี่ยง" อย่างไรก็ดี เขากล่าวเตือนว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไปอีกนาน และคำถามสำคัญยังคงไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจำเป็นจะต้องปรับขึ้นจนถึงระดับใด และจำเป็นจะต้องปรับขึ้นต่อไปเป็นเวลานานเพียงใด นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกด้วยว่า การควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้เฟดต้องใช้นโยบายที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเวลานานระยะหนึ่ง

  • เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds คาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 91.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และเทรดเดอร์คาดว่ามีโอกาส 9.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. โดยเทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.83% ในปัจจุบัน จะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 4.87% ในเดือนพ.ค.ปีหน้า แทนที่จะแตะจุดสูงสุดที่ 5.06% ในเดือนมิ.ย.ปีหน้าเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงเช้าวันพุธ ทั้งนี้ นักลงทุนเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้นว่าเฟดจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังจาก กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE แบบเทียบรายปีปรับขึ้น 6.0% ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2021 หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.0% ในเดือนต.ค. หลังจากปรับขึ้น 5.2% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี

  • ราคาทองเคลื่อนตัวอยู่เหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วัน, 100 วัน และ 200 วันในช่วงนี้ ซึ่งถือเป็นการส่งสัญญาณทางเทคนิคในทางบวก โดยค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 50 วันอยู่ที่ 1,693.93 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี, ค่าเฉลี่ย 100 วันอยู่ที่ 1,713.09 ดอลลาร์ และค่าเฉลี่ย 200 วันอยู่ที่ 1,796.20 ดอลลาร์ในวันพฤหัสบดี ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารเจพี มอร์แกนกล่าวว่า เนื่องจากเฟดจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต อัตราผลตอบแทนที่แท้จริงของสหรัฐจึงมีแนวโน้มลดลง และปัจจัยดังกล่าวกระตุ้นให้เขาคาดการณ์ในทางบวกต่อแนวโน้มราคาทองและราคาโลหะเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2023--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้