ReutersReuters

DJIA:ตลาดหุ้นนิวยอร์ค:ดาวโจนส์,S&P ปรับลงแต่ Nasdaq บวกขึ้น

นิวยอร์ค--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • ตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดอย่างไร้ทิศทางชัดเจนในวันพฤหัสบดี ในขณะที่นักลงทุนปรับตัวรับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐที่บ่งชี้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กำลังประสบความสำเร็จในการทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง ทั้งนี้ ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปรับลงในวันพฤหัสบดี ในขณะที่หุ้นเซลส์ฟอร์ซซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดิ่งลง 8.3% หลังจากเซลส์ฟอร์ซประกาศว่า นายเบรท เทย์เลอร์ จะลงจากตำแหน่งซีอีโอร่วมของบริษัทในเดือนม.ค.ปีหน้า อย่างไรก็ดี ดัชนี Nasdaq บวกขึ้นในวันพฤหัสบดี โดยได้รับแรงหนุนจากหุ้นบริษัทเอ็นวิเดียที่พุ่งขึ้น 1.25% และหุ้นบริษัทเมตา แพลตฟอร์มส์ที่ทะยานขึ้น 1.98%

  • ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ปิดร่วงลง 0.56% สู่ 34,395.01, ดัชนี S&P 500 ปิดขยับลง 0.09% สู่ 4,076.57 แต่ดัชนี Nasdaq ปิดบวกขึ้น 0.13% สู่ 11,482.45 ในวันพฤหัสบดี โดยดัชนี S&P 500 ดิ่งลงมาแล้วราว 14% จากช่วงต้นปีนี้ และดัชนี Nasdaq รูดลงมาแล้วราว 27% จากช่วงต้นปีนี้ ทั้งนี้ หุ้น 7 กลุ่มจาก 11 กลุ่มใหญ่ในตลาดหุ้นสหรัฐปิดตลาดในแดนลบในวันพฤหัสบดี โดยดัชนีหุ้นกลุ่มการเงินร่วงลง 0.71% และถือเป็นกลุ่มที่ร่วงลงมากที่สุด ส่วนดัชนีหุ้นกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นปรับลง 0.47% และถือเป็นกลุ่มที่ปรับลงมากเป็นอันดับสอง

  • ดัชนี S&P 500 เพิ่งพุ่งขึ้น 3.09% ในวันพุธ และเพิ่งปิดตลาดเหนือค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนเม.ย.ในวันพุธ หลังจากนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) กล่าวที่สถาบันบรูคกิงส์ในกรุงวอชิงตันในวันพุธว่า เฟดอาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. โดยเขากล่าวว่า "เราคิดว่าการชะลอความเร็วในจุดนี้จะเป็นหนทางที่ดีในการรักษาสมดุลความเสี่ยง" ทั้งนี้ นายรอส เมย์ฟิลด์ นักวิเคราะห์ของบริษัทแบร์ดกล่าวว่า "ตัวเลขเศรษฐกิจแบบที่ออกมาในช่วงเช้าวันพฤหัสบดีมักจะกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อสินทรัพย์เสี่ยงในวันปกติ อย่างไรก็ดี ตลาดหุ้นได้พุ่งขึ้นไปมากแล้วในวันพุธ ดังนั้นผมจึงคิดว่าตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาในวันพฤหัสบดียังไม่อยู่ในระดับที่ดีมากพอที่จะหนุนให้ตลาดหุ้นพุ่งขึ้นได้อีก"

  • สถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานในวันพฤหัสบดีว่า กิจกรรมภาคโรงงานหดตัวลงในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง ในขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นส่งผลลบต่อความต้องการซื้อสินค้า และสิ่งนี้ถือเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคโรงงานของสหรัฐดิ่งลงจาก 50.2 ในเดือนต.ค. สู่ 49.0 ในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2020 และดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงการหดตัว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ พุ่งขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ตรงตามความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE แบบเทียบรายปีปรับขึ้น 6.0% ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2021 หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.0% ในเดือนต.ค. หลังจากปรับขึ้น 5.2% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี

  • เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds คาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 91.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และเทรดเดอร์คาดว่ามีโอกาส 9.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. โดยเทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.83% ในปัจจุบัน จะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 4.87% ในเดือนพ.ค.ปีหน้า แทนที่จะแตะจุดสูงสุดที่ 5.06% ในเดือนมิ.ย.ปีหน้าเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงเช้าวันพุธ ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์นี้ ทางด้านกระทรวงแรงงานรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 16,000 ราย สู่ 225,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย.--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้