ReutersReuters

ตลาดเงินนิวยอร์ค:ดอลล์ดิ่งลงแตะต่ำสุด 16 สัปดาห์ขณะเงินเฟ้อชะลอตัว

นิวยอร์ค--2 ธ.ค.--รอยเตอร์

  • ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 16 สัปดาห์ในวันพฤหัสบดี หลังจากรัฐบาลสหรัฐรายงานว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐพุ่งขึ้นอย่างแข็งแกร่งในเดือนต.ค. แต่อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง โดยรายงานดังกล่าวช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ใกล้ที่จะแตะจุดสูงสุดของวัฏจักรแล้ว ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคสหรัฐ ซึ่งครองสัดส่วนมากกว่า 2 ใน 3 ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในสหรัฐ พุ่งขึ้น 0.8% ในเดือนต.ค. ซึ่งเป็นระดับที่ตรงตามความคาดหมายของนักเศรษฐศาสตร์ หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย. ส่วนดัชนีราคาค่าใช้จ่ายเพื่อการบริโภคส่วนบุคคล (PCE) ซึ่งเป็นมาตรวัดอัตราเงินเฟ้อที่เฟดนิยมใช้ ปรับขึ้น 0.3% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.3% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE แบบเทียบรายปีปรับขึ้น 6.0% ในเดือนต.ค. ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นที่น้อยที่สุดนับตั้งแต่เดือนธ.ค. 2021 หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี ทางด้านดัชนี PCE พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.2% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.5% ในเดือนก.ย. และดัชนี PCE พื้นฐานแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 5.0% ในเดือนต.ค. หลังจากปรับขึ้น 5.2% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายปี

  • ดอลลาร์อยู่ที่ 135.27 เยน ในช่วงท้ายตลาดวันพฤหัสบดี โดยดิ่งลงจากระดับปิดตลาดวันพุธที่ 138.03 เยน หลังจากรูดลงแตะ 135.20 เยนในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 18 ส.ค. ส่วนยูโรอยู่ที่ 1.0522 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยพุ่งขึ้นจาก 1.0405 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากทะยานขึ้นแตะ 1.0534 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. ทางด้านดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 104.66 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยรูดลงจาก 105.78 ในช่วงท้ายวันพุธ หลังจากดิ่งลงแตะ 104.56 ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. โดยดัชนีดอลลาร์รูดผ่านค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วันที่ระดับ 105.51 ลงมาด้วย ทั้งนี้ ปอนด์อยู่ที่ 1.2264 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยพุ่งขึ้นจาก 1.2058 ดอลลาร์ในช่วงท้ายวันพุธ

  • นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เพิ่งกล่าวที่สถาบันบรูคกิงส์ในกรุงวอชิงตันในวันพุธว่า เฟดอาจจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนธ.ค. โดยเขากล่าวว่า "เราคิดว่าการชะลอความเร็วในจุดนี้จะเป็นหนทางที่ดีในการรักษาสมดุลความเสี่ยง" อย่างไรก็ดี เขากล่าวเตือนว่าการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อจะยังคงดำเนินต่อไปอีกนาน และคำถามสำคัญยังคงไม่ได้รับคำตอบ ซึ่งรวมถึงประเด็นที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจำเป็นจะต้องปรับขึ้นจนถึงระดับใด และจำเป็นจะต้องปรับขึ้นต่อไปเป็นเวลานานเพียงใด นอกจากนี้ เขายังกล่าวอีกด้วยว่า การควบคุมภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลให้เฟดต้องใช้นโยบายที่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นเวลานานระยะหนึ่ง ทั้งนี้ นางมิเชลล์ โบว์แมน หนึ่งในผู้ว่าการเฟดกล่าวในวันพฤหัสบดีว่า เฟดควรจะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อจะได้ประเมินผลกระทบจากวัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ดี นายจอห์น วิลเลียมส์ ประธานเฟดสาขานิวยอร์คกล่าวย้ำว่า เฟดจำเป็นจะต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป เพื่อจะได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงเกินไปชะลอตัวลงมา

  • เทรดเดอร์ในตลาดสัญญาล่วงหน้า Fed funds คาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 91.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% สู่ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. และเทรดเดอร์คาดว่ามีโอกาส 9.0% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 4.50-4.75% ในการประชุมวันที่ 13-14 ธ.ค. โดยเทรดเดอร์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า อัตราดอกเบี้ย fed funds ซึ่งอยู่ที่ระดับ 3.83% ในปัจจุบัน จะขึ้นไปแตะจุดสูงสุดที่ 4.87% ในเดือนพ.ค.ปีหน้า แทนที่จะแตะจุดสูงสุดที่ 5.06% ในเดือนมิ.ย.ปีหน้าเหมือนอย่างที่เคยคาดการณ์กันไว้ในช่วงเช้าวันพุธ ทั้งนี้ สหรัฐรายงานตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ในวันพฤหัสบดีด้วยเช่นกัน โดยสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM) รายงานว่า กิจกรรมภาคโรงงานหดตัวลงในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 2 ปีครึ่ง โดยดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคโรงงานของสหรัฐดิ่งลงจาก 50.2 ในเดือนต.ค. สู่ 49.0 ในเดือนพ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ค. 2020 และดัชนีที่ระดับต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นถึงการหดตัว

  • กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ค่าใช้จ่ายทางการก่อสร้างในสหรัฐดิ่งลง 0.3% ในเดือนต.ค. หลังจากปรับขึ้น 0.1% ในเดือนก.ย. ส่วนค่าใช้จ่ายทางการก่อสร้างแบบเทียบรายปีปรับขึ้น 9.2% ในเดือนต.ค. ทั้งนี้ นักลงทุนรอดูตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนพ.ย.ที่กระทรวงแรงงานสหรัฐจะรายงานออกมาในวันศุกร์นี้ ทางด้านกระทรวงแรงงานรายงานในวันพฤหัสบดีว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกในสหรัฐดิ่งลง 16,000 ราย สู่ 225,000 รายในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 26 พ.ย.--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้