ReutersReuters

JAPAN:โพลล์คาดเยนอาจร่วงลงต่อไปจนถึงสิ้นปีนี้,BOJ จะลดการผ่อนคลาย

โตเกียว--29 พ.ย.--รอยเตอร์

  • รอยเตอร์ได้สำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์ในวันที่ 15-25 พ.ย. และได้เปิดเผยผลสำรวจออกมาในวันนี้ โดยผลสำรวจระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ 12 จาก 26 รายในโพลล์คาดว่า มีความเสี่ยงที่เยนอาจจะอ่อนค่าลงต่อไปเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจนถึงสิ้นปีนี้, นักเศรษฐศาสตร์ 8 รายคาดว่า มีความเสี่ยงที่เยนอาจจะอ่อนค่าลงต่อไป "จนถึงครึ่งแรกของปี 2023", นักเศรษฐศาสตร์ 3 รายคาดว่า มีความเสี่ยงที่เยนอาจจะอ่อนค่าลงต่อไปจนถึงครึ่งหลังของปี 2023 หรือหลังจากนั้น ส่วนนักเศรษฐศาสตร์ที่เหลืออีก 3 รายคาดว่า "ไม่มีความเสี่ยงที่เยนจะอ่อนค่าลงต่อไป" ทั้งนี้ นายฮิโรชิ วาตานาเบะ นักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทโซนี่ ไฟแนนเชียล กรุ๊ปกล่าวว่า "ถึงแม้นักลงทุนหลายรายคาดว่าเยนจะเปลี่ยนทิศทาง ก็มีความเสี่ยงที่ดอลลาร์อาจจะแข็งค่าขึ้นได้อีกจนถึงสิ้นปีนี้เป็นอย่างน้อย ในขณะที่มีความไม่แน่นอนในเรื่องอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ และในเรื่องแนวโน้มในการคุมเข้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด)"

  • โพลล์คาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเติบโต 3.1% ในไตรมาสเดือนต.ค.-ธ.ค.เมื่อเทียบเป็นตัวเลขเต็มปี (annualised) ซึ่งสูงกว่าระดับ +2.0% ที่เคยคาดไว้ในโพลล์เดือนต.ค. หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นเพิ่งหดตัวลง 1.2% ในไตรมาสเดือนก.ค.-ก.ย. นอกจากนี้ โพลล์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นอาจเติบโต 1.7% ในปีงบประมาณ 2022 โดยปรับลดลงจากระดับ +1.9% ที่เคยคาดไว้ในโพลล์ครั้งก่อน ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานของผู้บริโภคญี่ปุ่นอาจจะอยู่ที่ 2.7% ในปีงบประมาณ 2022 และ 1.7% ในปีงบประมาณ 2023 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.6% สำหรับปีงบประมาณนี้และ 1.4% สำหรับปีงบประมาณหน้า ทั้งนี้ นักลงทุนกำลังจับตามองแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ในช่วงนี้ ในขณะที่นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ มีกำหนดที่จะลงจากตำแหน่งประธานบีโอเจในเดือนเม.ย.ปี 2023 หลังจากดำรงตำแหน่งดังกล่าวมานาน 10 ปี และดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) พื้นฐานของญี่ปุ่นก็เพิ่งพุ่งขึ้นแตะจุดสูงสุดรอบ 40 ปีที่ 3.6% ในเดือนต.ค.เมื่อเทียบรายปี เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่ระดับต่ำในญี่ปุ่นมีส่วนกดดันเยนให้อ่อนค่าลงในช่วงที่ผ่านมา

  • นักเศรษฐศาสตร์ 24 จาก 26 ราย หรือ 92% ในโพลล์คาดว่า การปรับนโยบายครั้งถัดไปของธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) จะเป็น "การปรับลดการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายมากเป็นพิเศษ" อย่างไรก็ดี ในบรรดานักเศรษฐศาสตร์ 24 รายที่คาดการณ์แบบนี้นั้น นักเศรษฐศาสตร์ 20 รายคาดว่า บีโอเจจะปรับลดการผ่อนคลายทางการเงินในช่วงครึ่งหลังของปี 2023 หรือหลังจากนั้น, นักเศรษฐศาสตร์ 2 รายคาดว่าบีโอเจจะดำเนินการดังกล่าวในเดือนมิ.ย. 2023, 1 รายคาดว่าบีโอเจจะทำแบบนั้นในเดือนม.ค.ปีหน้า และ 1 รายคาดว่าบีโอเจจะทำแบบนั้นในเดือนเม.ย.ปีหน้า ทั้งนี้ นายทาคุมิ สึโนดะ นักเศรษฐศาสตร์ของสถาบันวิจัยชินกิน เซ็นทรัล แบงก์กล่าวว่า "เศรษฐกิจญี่ปุ่นยังไม่ได้ฟื้นตัวขึ้นอย่างเต็มที่หลังจากทรุดตัวลงในช่วงที่เกิดวิกฤติโรคระบาด ดังนั้นการปรับลดการผ่อนคลายทางการเงินในเวลาที่เร็วเกินไปจะเป็นการทำลายโอกาสในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ" และเขากล่าวเสริมว่า "บีโอเจมีความแตกต่างจากธนาคารกลางสหรัฐและธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) เพราะบีโอเจไม่มีเหตุผลที่จะต้องเร่งคุมเข้มนโยบายการเงิน ในขณะที่เยนชะลอการอ่อนค่าลงในช่วงนี้ และอัตราเงินเฟ้อของผู้บริโภคที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานก็ยังคงอยู่ในระดับต่ำ"

  • โพลล์รอยเตอร์ได้ให้นักเศรษฐศาสตร์ตอบคำถามที่ว่า บีโอเจมีแนวโน้มที่จะดำเนินการเช่นใด ถ้าหากบีโอเจจะปรับลดการใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย โดยผู้ตอบโพลล์สามารถเลือกได้หลายคำตอบสำหรับคำถามนี้ โดยคำตอบที่ได้รับเลือกมากที่สุดคือการปรับเปลี่ยนถ้อยคำที่ใช้ในทิศทางแนวโน้มนโยบายการเงิน โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ 13 จาก 24 รายที่เลือกคำตอบนี้ ทั้งนี้ อันดับสองคือการขยายความกว้างของกรอบความเคลื่อนไหวสำหรับอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่น (JGB) ประเภทอายุ 10 ปี โดยขยายออกจากระดับ "-0.25% จนถึง +0.25%" ในปัจจุบัน โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ 10 รายที่เลือกคำตอบนี้ นอกจากนี้ ก็มีนักเศรษฐศาสตร์ 8 รายที่เลือกการปรับลดอายุของพันธบัตรที่บีโอเจตั้งเป้าหมายอัตราผลตอบแทน โดยปรับลดลงสู่ระดับต่ำกว่า 10 ปี และมีนักเศรษฐศาสตร์ 8 รายที่คาดว่า บีโอเจจะยุติการตั้งเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นไว้ในระดับติดลบ

  • นักเศรษฐศาสตร์มีความเห็นก้ำกึ่งต่อประเด็นที่ว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องปรับแก้แถลงการณ์ร่วมกันระหว่างบีโอเจกับรัฐบาลญี่ปุ่นที่ทำไว้ในปี 2013 หรือไม่ โดยข้อตกลงนโยบายดังกล่าวระบุว่า บีโอเจจำเป็นจะต้องพยายามบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ 2% "ในเวลาที่เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ทั้งนี้ นักเศรษฐศาสตร์ 13 รายระบุว่า บีโอเจไม่ควรจะปรับแก้ข้อตกลงดังกล่าว แต่นักเศรษฐศาสตร์ 12 รายระบุว่า บีโอเจควรจะปรับแก้ข้อตกลงดังกล่าว โดยในบรรดา 12 รายนี้นั้น มีอยู่ 7 รายที่ระบุว่า บีโอเจควรจะปรับเพิ่มความยืดหยุ่นในการตัดสินเรื่องการบรรลุเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อ, 1 รายระบุว่า บีโอเจควรจะปรับลดเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อให้ต่ำลง, 1 รายระบุว่าบีโอเจควรจะขยายหน้าที่ของบีโอเจออกไปเพื่อให้ครอบคลุมการตั้งเป้าหมายด้านการจ้างงาน และการตั้งเป้าหมายไปที่การปรับขึ้นค่าแรง และมีนักเศรษฐศาสตร์ 2 รายที่ระบุว่า บีโอเจควรจะยกเลิกข้อตกลงนโยบายดังกล่าว ในขณะที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นไม่ได้เผชิญกับภาวะเงินฝืดอีกต่อไป--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้