ReutersReuters

ตลาดซื้อขายดอลลาร์/เยน:ดัชนีดอลล์แข็งค่าขณะตลาดจับตาการประท้วงในจีน

สิงคโปร์--28 พ.ย.--รอยเตอร์

  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินหลายสกุลในการซื้อขายช่วงเช้าวันนี้ที่ตลาดเอเชีย ในขณะที่การประท้วงต่อต้านมาตรการควบคุมโรคโควิด-19 ในจีนส่งผลให้เกิดความไม่แน่นอน และส่งผลลบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้หยวนดิ่งลง และกระตุ้นให้นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ทั้งนี้ เกิดเหตุเพลิงไหม้ที่อาคารสูงแห่งหนึ่งในเมืองอุรุมชี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภูมิภาคซินเจียงในภาคตะวันตกของจีนในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยเหตุดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 10 คน และมีบางคนกล่าวหาว่ามาตรการล็อกดาวน์เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งของเหตุการณ์นี้ โดยเหตุการณ์นี้ส่งผลให้มีการประท้วงเกิดขึ้นทั่วประเทศจีน และเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้ประท้วงหลายร้อยคนในนครเซี่ยงไฮ้ในคืนวันอาทิตย์

  • ดอลลาร์สหรัฐดิ่งลง 0.52% สู่ 138.38 เยนในช่วงเช้าวันนี้ ส่วนยูโรรูดลง 0.4% สู่ 1.0353 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินแข็งค่าขึ้น 0.28% สู่ 106.35 ในช่วงเช้าวันนี้ ทั้งนี้ ดอลลาร์สหรัฐ/หยวนปรับขึ้น 0.33% สู่ 7.2195 หยวนในตลาดต่างประเทศช่วงเช้าวันนี้ หลังจากพุ่งขึ้นแตะ 7.2551 หยวนในระหว่างวัน ส่วนดอลลาร์ออสเตรเลียดิ่งลง 1.04% สู่ 0.6685 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้ ทางด้านดอลลาร์นิวซีแลนด์รูดลง 0.66% สู่ 0.6206 ดอลลาร์สหรัฐในช่วงเช้าวันนี้

  • นายโรดริโก คาทริล นักยุทธศาสตร์การลงทุนสกุลเงินของธนาคารเนชันแนล ออสเตรเลีย แบงก์ (NAB) กล่าวว่า "มีความกังวลระดับใหม่เกิดขึ้นในจีน และเราจำเป็นต้องจับตาดูเรื่องนี้อย่างระมัดระวัง โดยปัจจัยนี้จะเป็นตัวกำหนดบรรยากาศของตลาดในช่วงต้นสัปดาห์นี้ และผมก็คาดว่านักลงทุนจะมุ่งความสนใจไปยังมาตรการควบคุมที่จีนอาจจะประกาศใช้ และนักลงทุนจะจับตาดูการระบาดของโรคโควิด-19 ในจีนด้วย" ทั้งนี้ ธนาคารกลางจีน (PBOC) ประกาศในวันศุกร์ว่า ธนาคารกลางจีนจะปรับลดสัดส่วนการกันสำรองของธนาคารพาณิชย์ (RRR) ลง 0.25% ซึ่งจะเริ่มมีผลในวันที่ 5 ธ.ค. โดยการปรับลด RRR ดังกล่าวเป็นการปรับลดครั้งที่ 2 ของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้มีสภาพคล่องระยะยาวไหลเข้าระบบราว 5.00 แสนล้านหยวน (6.98 หมื่นล้านดอลลาร์) เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจจีน อย่างไรก็ดี นางไอริส ปัง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์จีนของบริษัท ING กล่าวว่า "ถ้าหากการปรับลด RRR ถือเป็นเครื่องมือนโยบายการเงินเพียงอย่างเดียวที่ PBOC จะนำมาใช้ในตอนนี้ สิ่งนี้ก็อาจจะไม่ส่งผลให้ปริมาณการปล่อยกู้ของภาคธนาคารปรับเพิ่มขึ้นมากนัก" และเธอกล่าวเสริมว่า "บริษัทหลายแห่งในจีนได้รับแรงกดดันจากยอดค้าปลีกที่อ่อนแอลงท่ามกลางการพุ่งขึ้นของยอดผู้ป่วยโรคโควิด และราคาบ้านก็ดิ่งลงโดยเป็นผลจากโครงการก่อสร้างบ้านที่ทำไม่เสร็จ"

  • ปัญหาในจีนช่วยสกัดกั้นการดิ่งลงของดอลลาร์สหรัฐ หลังจากดอลลาร์สหรัฐเคยได้รับแรงกดดันในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ โดยเฟดเพิ่งเปิดเผยรายงานการประชุมกำหนดนโยบายประจำวันที่ 1-2 พ.ย.ในวันพุธที่ผ่านมา และรายงานดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ในเฟดมีความเห็นตรงกันว่า จะเป็นการเหมาะสมที่จะชะลอความเร็วในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเพิ่งดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 3 เดือนที่ 105.30 ในวันที่ 15 พ.ย. และดัชนีดอลลาร์ยังคงมีแนวโน้มว่าอาจจะปิดตลาดเดือนพ.ย.ด้วยการดิ่งลงเกือบ 5% จากเดือนต.ค. ซึ่งจะถือเป็นการดิ่งลงรายเดือนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 12 ปี

  • นายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดมีกำหนดจะกล่าวแถลงเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงานในงานที่จัดโดยสถาบันบรูคกิงส์ในวันพุธที่ 30 พ.ย. และนักลงทุนจะรอฟังถ้อยแถลงนี้เพื่อใช้ในการประเมินแนวโน้มนโยบายการเงินของเฟด ทั้งนี้ นายคาทริลกล่าวว่า "นายพาวเวลล์มีแนวโน้มที่จะแสดงความไม่เห็นด้วยเล็กน้อยต่อภาวะการเงินที่ผ่อนคลายลงในช่วงที่ผ่านมา เพราะว่าในมุมมองของเฟดนั้น สิ่งที่สำคัญคือการต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้อ และเฟดก็ยังไม่ได้รับชัยชนะในการต่อสู้นี้"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้