ReutersReuters

ตลาดโลหะมีค่านิวยอร์ค:ทองดิ่งลง 1.4% ขณะดอลล์แข็งค่า

นิวยอร์ค--17 ต.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาทองสปอตที่ตลาดสหรัฐดิ่งลง 24.04 ดอลลาร์ หรือ 1.44% สู่ 1,641.76 ดอลลาร์ต่อออนซ์ในช่วงท้ายตลาดวันศุกร์ และปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการรูดลง 3.11% จากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนส.ค. โดยราคาทองได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์สหรัฐ และจากความกังวลที่ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวต่อไปเพื่อควบคุมภาวะเงินเฟ้อ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 113.31 ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 112.51 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี โดยการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้ทองมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ

  • ราคาสัญญาทองล่วงหน้าปิดตลาดดิ่งลง 1.6% สู่ 1,649.50 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทางด้านราคาโลหะเงินในตลาดสปอตปิดรูดลง 0.611 ดอลลาร์ หรือ 3.24% สู่ 18.257 ดอลลาร์/ออนซ์ ส่วนราคาพลาตินั่มในตลาดสปอตปิดปรับขึ้น 2.45 ดอลลาร์ สู่ 898.73 ดอลลาร์/ออนซ์ และราคาพัลลาเดียมในตลาดสปอตปิดรูดลง 118.52 ดอลลาร์ หรือ 5.62% สู่ 1,989.00 ดอลลาร์/ออนซ์ ทั้งนี้ ราคาโลหะเงินปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการดิ่งลง 9.21% จากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการดิ่งลงรายสัปดาห์ครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2020

  • นายแดเนียล แกลี นักยุทธศาสตร์การลงทุนสินค้าโภคภัณฑ์ของบล.ทีดีกล่าวว่า ราคาทองปรับตัวผกผันกับดอลลาร์มากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงนี้ และราคาทองอาจจะดิ่งลงแตะระดับ 1,600 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้ในอนาคต ทั้งนี้ ราคาทองเพิ่งดิ่งลง 1.8% สู่ 1,641.80 ดอลลาร์ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันพฤหัสบดี ก่อนจะลดช่วงติดลบกลับขึ้นมาได้บ้าง และปิดตลาดปรับลงเพียง 0.4% ที่ 1,665.80 ดอลลาร์ในวันพฤหัสดี ในขณะที่ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นในช่วงแรก หลังจากสหรัฐรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในวันพฤหัสบดี แต่ดัชนีดอลลาร์สหรัฐดิ่งลงในช่วงต่อมา และอยู่ที่ 112.51 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี

  • กระทรวงแรงงานสหรัฐเพิ่งรายงานในวันพฤหัสบดีว่า อัตราเงินเฟ้อสหรัฐยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไป โดยดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐปรับขึ้น 0.4% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.1% ในเดือนส.ค.เมื่อเทียบรายเดือน และอยู่สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ในโพลล์รอยเตอร์ที่ +0.2% สำหรับเดือนก.ย. ส่วนดัชนี CPI พื้นฐานที่ไม่รวมราคาอาหารและพลังงานปรับขึ้น 0.6% ในเดือนก.ย.เมื่อเทียบรายเดือน หลังจากปรับขึ้น 0.6% ในเดือนส.ค. โดยได้รับแรงหนุนจากค่าเช่าที่พุ่งสูงขึ้นในเดือนก.ย. ทางด้านดัชนี CPI พื้นฐานแบบเทียบรายปีทะยานขึ้น 6.6% ในเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นการทะยานขึ้นครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนส.ค. 1982 หรือครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 40 ปี หลังจากปรับขึ้น 6.3% ในเดือนส.ค. โดยรายงานตัวเลขนี้ช่วยสนับสนุนการคาดการณ์ที่ว่า อัตราดอกเบี้ยจะยังคงอยู่ในระดับสูงต่อไปเป็นเวลานาน ทั้งนี้ นักลงทุนคาดการณ์ในตอนนี้ว่า มีโอกาส 90.9% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 3.75-4.00% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. และมีโอกาส 9.1% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 1.00% สู่ 4.00-4.25% ในการประชุมวันที่ 1-2 พ.ย. โดยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลลบต่อราคาทอง เพราะทองเป็นสินทรัพย์ที่ไม่ให้ดอกเบี้ย

  • อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปีพุ่งขึ้นสู่ 4.006% ในช่วงท้ายวันศุกร์ จาก 3.954% ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี และปัจจัยนี้ส่งผลลบต่อราคาทอง ทั้งนี้ นายเคร็ก เออร์แลม นักวิเคราะห์ตลาดของบริษัท OANDA กล่าวว่า "การที่ราคาทองร่วงลงในวันศุกร์เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับผลกระทบที่น่าจะเกิดขึ้นจากรายงานตัวเลขอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐ"--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้