ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบดิ่งลง 2.1% หลังโอเปกเพิ่มการผลิตในก.ย.

ฮุสตัน--3 ต.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงในวันศุกร์ หลังจากแกว่งตัวผันผวนในระหว่างวัน แต่ราคาน้ำมันดิบสามารถปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการปรับขึ้นจากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 สัปดาห์ โดยราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันและชาติพันธมิตร (โอเปกพลัส) จะตัดสินใจปรับลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบลงในการประชุมวันที่ 5 ต.ค. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิ่งลงในวันศุกร์ หลังจากผลสำรวจระบุว่า กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันในเดือนก.ย. โดยปรับเพิ่มขึ้น 210,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือนส.ค. สู่ 29.81 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนก.ย. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2020

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนพ.ย.ดิ่งลง 1.74 ดอลลาร์ หรือ 2.1% มาปิดตลาดที่ 79.49 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันศุกร์ ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนพ.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนปรับลง 53 เซนต์ หรือ 0.6% มาปิดตลาดที่ 87.96 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในวันศุกร์ โดยสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนพ.ย.ครบกำหนดส่งมอบในช่วงปิดตลาดวันศุกร์ ในขณะที่ราคาสัญญาน้ำมันดิบเบรนท์เดือนธ.ค.รูดลง 2.07 ดอลลาร์ มาปิดตลาดที่ 85.11 ดอลลาร์ในวันศุกร์ ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดสัปดาห์นี้ด้วยการพุ่งขึ้น 1% จากสัปดาห์ที่แล้ว ส่วนเบรนท์ทะยานขึ้น 2% จากสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งถือเป็นการปิดตลาดรายสัปดาห์ในแดนบวกได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค. หลังจากราคาน้ำมันดิบเพิ่งดิ่งลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 9 เดือนในระหว่างสัปดาห์ นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ก็ปิดตลาดไตรมาสสามด้วยการดิ่งลง 23% จากไตรมาสสอง ส่วนน้ำมันดิบสหรัฐปิดตลาดไตรมาสสามด้วยการรูดลง 25% จากไตรมาสสอง

  • นายจอห์น คิลดัฟฟ์ หุ้นส่วนของบริษัทอะเกน แคปิตัลกล่าวว่า "นักลงทุนเทขายทำกำไรออกมาหลังจากราคาน้ำมันพุ่งขึ้นในระหว่างสัปดาห์ โดยราคาน้ำมันที่ระดับ 80 ดอลลาร์ถือเป็นจุดหักเหที่สำคัญในช่วงนี้" และเขากล่าวเสริมว่า "นักลงทุนมีความกังวลมากยิ่งขึ้นต่อเสถียรภาพทางการเงินในอังกฤษ และปัจจัยนี้ส่งผลลบต่อแนวโน้มอุปสงค์น้ำมัน" ทั้งนี้ นายสตีเฟน เบรนน็อค จากบริษัท PVM กล่าวว่า "เป็นเรื่องปกติที่ราคาน้ำมันแกว่งตัวผันผวนในช่วงนี้ ในขณะที่ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องเศรษฐกิจโลก แต่ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงหนุนในเวลาเดียวกันจากการคาดการณ์ที่ว่า อุปทานน้ำมันจะหดตัวลง"

  • คณะกรรมการการค้าสัญญาล่วงหน้าสินค้าโภคภัณฑ์ของสหรัฐ (CFTC) รายงานในวันศุกร์ว่า ผู้จัดการกองทุนปรับลดการถือครองสถานะซื้อสุทธิในสัญญาล่วงหน้าและออปชั่นน้ำมันดิบสหรัฐลง 23,179 สัญญา สู่ 155,750 สัญญาในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 27 ก.ย. ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของดอลลาร์ในวันศุกร์ด้วย เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลให้น้ำมันมีราคาแพงขึ้นสำหรับผู้ถือครองสกุลเงินอื่น ๆ โดยดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 112.17 ในช่วงท้ายวันศุกร์ โดยแข็งค่าขึ้นจาก 111.80 ในช่วงท้ายวันพฤหัสบดี

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนในช่วงที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ที่ว่า กลุ่มโอเปกพลัสอาจจะพิจารณาเรื่องการปรับลดโควต้าการผลิตน้ำมันลง 0.5-1.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในการประชุมวันที่ 5 ต.ค. ในขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่า กลุ่มโอเปกพลัสน่าจะตัดสินใจปรับลดการผลิต ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบได้รับแรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาจากการคาดการณ์ที่ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกจะสร้างความเสียหายต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ ในส่วนของการผลิตน้ำมันในสหรัฐนั้น บริษัทเบเกอร์ ฮิวจ์สรายงานในวันศุกร์ว่า จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันที่ใช้งานในสหรัฐปรับขึ้น 2 แท่น สู่ 604 แท่นในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 30 ก.ย. แต่จำนวนแท่นขุดเจาะน้ำมันและก๊าซธรรมชาติในสหรัฐปรับขึ้นรวมกันเพียงแค่ 12 แท่นในไตรมาสสาม ซึ่งถือเป็นการปรับขึ้นรายไตรมาสที่ต่ำที่สุดนับตั้งแต่ไตรมาส 3/2020 โดยเป็นผลจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้