ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:น้ำมันดิบพุ่งขึ้น 1.8%,ส่งออกน้ำมันสหรัฐทำนิวไฮ

ฮุสตัน--18 ส.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX พุ่งขึ้นในวันพุธ โดยได้รับแรงหนุนจากตัวเลขสต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐที่ดิ่งลงอย่างรุนแรงเกินคาด และปัจจัยบวกดังกล่าวช่วยบดบังแรงกดดันที่ราคาน้ำมันได้รับจากการที่รัสเซียปรับเพิ่มปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมัน และแรงกดดันจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย ทั้งนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) รายงานในวันพุธว่า สต็อกน้ำมันดิบในคลังสหรัฐดิ่งลง 7.1 ล้านบาร์เรล สู่ 425 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. ถึงแม้นักวิเคราะห์ในโพลล์รอยเตอร์คาดว่า สต็อกน้ำมันดิบอาจลดลงเพียง 275,000 บาร์เรล โดยการดิ่งลงอย่างรุนแรงของสต็อกน้ำมันดิบในครั้งนี้เป็นผลมาจากการที่สหรัฐส่งออกน้ำมันดิบ 5 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งถือเป็นสถิติสูงสุด ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบสหรัฐอยู่ต่ำกว่าราคาน้ำมันดิบเบรนท์เป็นอย่างมาก และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้น้ำมันดิบสหรัฐมีความน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้นสำหรับผู้ซื้อต่างชาติ ทางด้านยอดนำเข้าน้ำมันดิบสุทธิในสหรัฐดิ่งลง 2.93 ล้านบาร์เรลต่อวัน สู่ 1.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนก.ย.ทะยานขึ้น 1.58 ดอลลาร์ หรือ 1.8% มาปิดตลาดวันพุธที่ 88.11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากราคาน้ำมันเพิ่งรูดลงแตะ 85.73 ดอลลาร์ในวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนต.ค.ที่ตลาดกรุงลอนดอนพุ่งขึ้น 1.31 ดอลลาร์ หรือ 1.42% มาปิดตลาดที่ 93.65 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล หลังจากรูดลงแตะ 91.51 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. หรือจุดต่ำสุดในรอบ 6 เดือน โดยราคาน้ำมันดิบเบรนท์ได้รับแรงกดดันในช่วงแรกจากความกังวลเรื่องภาวะเศรษฐกิจถดถอย

  • รายงานของ EIA บ่งชี้ว่าอุปสงค์น้ำมันอยู่ในระดับแข็งแกร่ง โดยสต็อกน้ำมันเบนซินในคลังสหรัฐดิ่งลง 4.6 ล้านบาร์เรล สู่ 215.7 ล้านบาร์เรลในช่วงสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ส.ค. ในขณะที่โพลล์รอยเตอร์คาดว่า สต็อกน้ำมันเบนซินอาจปรับลดลงเพียง 1.1 ล้านบาร์เรล ทางด้านนายฟิล ฟลินน์ นักวิเคราะห์ของบริษัทไพรซ์ ฟิวเจอร์ส กรุ๊ปกล่าวว่า รายงานของ EIA ฉบับนี้ช่วยลดความกังวลที่ว่าอุปสงค์น้ำมันอาจจะทรุดตัวลงอย่างรุนแรงหลังจากราคาน้ำมันอยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ ราคาน้ำมันร่วงลงในช่วงแรกของวันพุธ หลังจากสำนักงานสถิติแห่งชาติของอังกฤษ (ONS) รายงานในวันพุธว่า อัตราเงินเฟ้อของราคาผู้บริโภคอังกฤษพุ่งขึ้นสู่ 10.1% ในเดือนก.ค.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.พ. 1982 หรือจุดสูงสุดรอบ 40 ปี โดยการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อนี้จะยิ่งเป็นการเพิ่มแรงกดดันต่อภาคครัวเรือน

  • เอกสารจากกระทรวงเศรษฐกิจรัสเซียระบุว่า รัสเซียเริ่มต้นปรับเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ผู้ซื้อในเอเชียปรับเพิ่มปริมาณการซื้อน้ำมันจากรัสเซีย และปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้รัฐบาลรัสเซียปรับเพิ่มตัวเลขคาดการณ์ปริมาณการผลิตและส่งออกน้ำมันของรัสเซียจนถึงสิ้นปี 2025 ทางด้านรายได้ของรัสเซียจากการส่งออกพลังงานมีแนวโน้มพุ่งขึ้น 38% ในปีนี้ โดยได้รับแรงหนุนบางส่วนจากปริมาณการส่งออกน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้น และสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าการส่งออกน้ำมันของรัสเซียไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการคว่ำบาตรมากเท่าที่คาด

  • นักลงทุนกำลังรอดูความคืบหน้าในการเจรจาเพื่อฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่านปี 2015 เพราะการฟื้นฟูข้อตกลงดังกล่าวอาจจะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันของอิหร่านพุ่งสูงขึ้น ทางด้านสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐกำลังศึกษาคำตอบของอิหร่านที่มีต่อข้อเสนอ "ขั้นสุดท้าย" ของอียูในการฟื้นฟูข้อตกลงนิวเคลียร์อิหร่าน โดยอิหร่านได้ตอบรับต่อข้อเสนอดังกล่าวในช่วงคืนวันจันทร์ที่ผ่านมา แต่ยังไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดเรื่องคำตอบของอิหร่าน ทั้งนี้ นักวิเคราะห์ของธนาคารโกลด์แมน แซคส์ระบุว่า ถ้าหากอิหร่านกลับมาส่งออกน้ำมันดิบสู่ตลาดโลก ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะส่งผลให้ตัวเลขคาดการณ์ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ของโกลด์แมน แซคส์ที่ 125 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลสำหรับปี 2023 ถูกปรับลดลง 5-10 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้