ReutersReuters

FED:คาดเฟดขึ้นดบ. 0.75% วันนี้,นักลงทุนจับตาความกังวลของเฟดต่อศก.

วอชิงตัน--27 ก.ค.--รอยเตอร์

  • นักลงทุนคาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มที่จะปรับขึ้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ 2.25-2.50% ในการประชุมกำหนดนโยบายในวันที่ 26-27 ก.ค. เพื่อรับมือกับอัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูง และนักลงทุนจะรอดูแถลงการณ์ของเฟดในการประชุมครั้งนี้ โดยมุ่งความสนใจไปยังประเด็นที่ว่า ผู้กำหนดนโยบายของเฟดให้ความสำคัญมากเพียงใดต่อสัญญาณการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ ถ้าหากเฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในวันนี้ตามความคาดหมาย การปรับขึ้นกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยสู่ 2.25-2.50% ในครั้งนี้ก็จะใกล้เคียงกับอัตราดอกเบี้ยที่ "เป็นกลาง" ในระยะยาวในมุมมองของเจ้าหน้าที่เฟด โดยอัตราดอกเบี้ยที่เป็นกลางจะไม่ช่วยกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจและไม่จำกัดการเติบโตทางเศรษฐกิจ

  • ถึงแม้ยังไม่มีสัญญาณบ่งชี้ว่า เฟดประสบความสำเร็จมากนักในการควบคุมภาวะเงินเฟ้อ สัญญาณบ่งชี้ถึงภาวะตึงเครียดทางเศรษฐกิจกลับเพิ่มสูงขึ้นในช่วงนี้ และสิ่งนี้จะส่งผลให้เจ้าหน้าที่เฟดต้องชั่งน้ำหนักระหว่างการคุมเข้มนโยบายการเงินเพื่อทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลง กับความเสี่ยงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปจนส่งผลให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยคำถามสำคัญในขณะนี้คือประเด็นที่ว่า เฟดกำลังเผชิญความเสี่ยงในการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากเกินไปหรือไม่ ทั้งนี้ ตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐส่งสัญญาณในช่วงนี้ว่า มีความเป็นไปได้มากยิ่งขึ้นที่จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 2 ปีอยู่ที่ 3.043% ในช่วงท้ายวานนี้ ซึ่งสูงกว่าอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐประเภทอายุ 10 ปี ซึ่งอยู่ที่ 2.787% ในช่วงท้ายวานนี้ และสิ่งนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่นในการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะใกล้ และมีความเป็นไปได้ที่เฟดอาจจะมีความจำเป็นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงในอนาคตอันใกล้

  • นักลงทุนกังวลกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจมากยิ่งขึ้น หลังจากวอลมาร์ท อิงค์ ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ของสหรัฐประกาศปรับลดแนวโน้มผลกำไรในช่วงเย็นวันจันทร์ และวอลมาร์ทระบุว่าภาวะเงินเฟ้อส่งผลให้ผู้บริโภคใช้จ่ายเงินเป็นค่าอาหารและเชื้อเพลิงมากยิ่งขึ้น แทนที่จะนำเงินไปใช้ซื้อสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างเช่นอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และเสื้อผ้า ทางด้านบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส โค (GM) ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์ของสหรัฐแถลงว่า ทางบริษัทได้ชะลอการจ้างงานและเลื่อนแผนการลงทุนออกไปเพื่อตอบรับต่อภาวะเงินเฟ้อ และเพื่อรับมือกับความเป็นไปได้ที่ธุรกิจจะชะลอตัวลงในวงกว้าง ทั้งนี้ นักลงทุนจะจับตาดูงานแถลงข่าวของนายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดที่จะจัดขึ้นในเวลา 01.30 น.ของวันพฤหัสบดีตามเวลาไทย เพราะเขามีแนวโน้มที่จะชี้แจงว่า เฟดมีความเห็นอย่างไรบ้างต่อตัวเลขเศรษฐกิจในระยะนี้ และเขาจะส่งสัญญาณว่า เฟดจะดำเนินขั้นตอนอย่างไรในอนาคตด้วย โดยเขาอาจส่งสัญญาณว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. โดยตัวเลขอัตราเงินเฟ้อจะเป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวกำหนดว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50% หรือ 0.75% ในเดือนก.ย.

  • นายเอียน เชปเพิร์ดสัน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทแพนธีออน แมคโครอิโคโนมิคส์ ระบุว่า เนื่องจากดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่า 9% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี "เฟดจึงไม่มีแนวโน้มที่จะชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะมั่นใจว่าอัตราเงินเฟ้อปรับเปลี่ยนทิศทางแล้ว" ทั้งนี้ ผู้กำหนดนโยบายส่วนใหญ่ของเฟดแสดงความเห็นตรงกันว่า เฟดควรจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป จนกว่าอัตราเงินเฟ้อจะชะลอตัวลง อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์บางรายมองว่า การทำเช่นนั้นอาจจะส่งผลให้เกิดความผิดพลาดตามมาได้ เพราะตัวเลขอัตราเงินเฟ้ออาจจะปรับตัวล่าช้ากว่าผลกระทบที่เศรษฐกิจได้รับจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และสิ่งนี้หมายความว่า เฟดอาจจะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไป ถึงแม้เศรษฐกิจสหรัฐชะลอตัวลงแล้ว

  • อัตราดอกเบี้ยจำนองคงที่ระยะ 30 ปีของสหรัฐพุ่งขึ้นจากระดับต่ำกว่า 3% สู่ระดับราว 5.5% ในช่วงนี้ โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในช่วงที่ผ่านมา ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์สหรัฐรายงานในวันอังคารว่า ยอดขายบ้านใหม่ในสหรัฐดิ่งลง 8.1% สู่ 590,000 ยูนิตต่อปีในเดือนมิ.ย. ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2020 หรือจุดต่ำสุดในรอบกว่า 2 ปี โดยรายงานตัวเลขเศรษฐกิจเหล่านี้บ่งชี้ถึงผลกระทบที่เศรษฐกิจได้รับจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวของเฟด ทั้งนี้ เมื่อถึงเวลาที่เฟดจัดการประชุมกำหนดนโยบายครั้งถัดไปในวันที่ 20-21 ก.ย. ผู้กำหนดนโยบายของเฟดก็จะได้พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับอัตราเงินเฟ้อ, ปริมาณการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค, ผลผลิตทางธุรกิจ, การจ้างงาน และตัวเลขเศรษฐกิจอื่น ๆ ที่ได้รับการรายงานออกมาในช่วงเดือนส.ค.และก.ย. ซึ่งถ้าหากอัตราเงินเฟ้อชะลอตัวลงก่อนที่จะถึงการประชุมในวันที่ 20-21 ก.ย. ปัจจัยดังกล่าวก็อาจจะเปิดโอกาสให้เฟดชะลอการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้