ReutersReuters

USA:จับตาดอลล์แข็งค่าจะสร้างความเสียหายมากเพียงใดต่อภาคเอกชนสหรัฐ

นิวยอร์ค--25 ก.ค.--รอยเตอร์

  • นักวิเคราะห์ตลาดหุ้นสหรัฐระบุว่า บริษัทสหรัฐหลายแห่งจะรายงานผลประกอบการไตรมาส 2 ออกมาในช่วงไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้านี้ และบริษัทเหล่านี้มีแนวโน้มที่จะระบุตรงกันว่า การแข็งค่าของดอลลาร์ได้สร้างความเสียหายต่อผลประกอบการของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์ทำให้สินค้าส่งออกของสหรัฐมีประสิทธิภาพการแข่งขันลดลงในต่างประเทศ และการแข็งค่าของดอลลาร์สร้างความเสียหายต่อบริษัทข้ามชาติของสหรัฐ เมื่อบริษัทดังกล่าวแปลงผลกำไรในต่างประเทศให้กลับมาอยู่ในรูปของดอลลาร์สหรัฐ ทั้งนี้ ดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินอยู่ที่ 106.68 ในวันนี้ หลังจากเพิ่งขึ้นไปแตะ 109.29 ในวันที่ 14 ก.ค. ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนก.ย. 2002 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี โดยดัชนีดอลลาร์ทะยานขึ้นมาแล้ว 15.1% ในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา โดยได้รับแรงหนุนจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และจากการที่นักลงทุนเข้าซื้อดอลลาร์สหรัฐในฐานะสกุลเงินปลอดภัยท่ามกลางภาวะปั่นป่วนวุ่นวายในตลาด

  • นักวิเคราะห์ของธนาคารมอร์แกน สแตนเลย์ประเมินว่า การพุ่งขึ้นทุก 1% ของดัชนีดอลลาร์สหรัฐเมื่อเทียบรายปี จะส่งผลลบราว 0.5% ต่ออัตราการเติบโตของผลกำไรของบริษัทในดัชนี S&P 500 ของสหรัฐ ทั้งนี้ มีบริษัทสหรัฐหลายแห่งที่ระบุในสัปดาห์ที่แล้วว่า การแข็งค่าของดอลลาร์ส่งผลลบต่อผลกำไรของบริษัทในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บิสเนส แมชีนส์ คอร์ป (IBM), เน็ตฟลิกซ์ และจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน โดยจอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน กับไมโครซอฟท์ได้ปรับลดคาดการณ์แนวโน้มของบริษัทลงโดยเป็นผลจากการแข็งค่าของดอลลาร์ด้วย ทั้งนี้ นักลงทุนจะรอดูผลประกอบการของบริษัทแอปเปิล, ไมโครซอฟท์ และโคคา-โคล่าในสัปดาห์นี้ เพื่อดูว่าธุรกิจสหรัฐสามารถรับมือได้ดีเพียงใดต่อการแข็งค่าของดอลลาร์และต่อการพุ่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ และนักลงทุนจะจับตาดูผลการประชุมกำหนดนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ก.ค.ด้วย เพื่อดูว่าเฟดจะแสดงความเห็นอย่างไรในประเด็นนี้ โดยนักลงทุนคาดว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุมครั้งนี้

  • บริษัทสหรัฐในดัชนี S&P 500 มีรายได้ราว 40% จากต่างประเทศ โดยบริษัทในภาคเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอที) มีรายได้ 58% จากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่สูงที่สุด ส่วนอันดับสองคือบริษัทในภาควัสดุที่มีรายได้ 56% จากต่างประเทศ ส่วนอันดับต่ำสุดคือบริษัทในภาคสาธารณูปโภคที่มีรายได้เพียงแค่ 2% จากต่างประเทศ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์กล่าวว่า ผลกำไรของบริษัทสหรัฐได้รับแรงกดดันจากปัจจัยหลายประการในเวลาเดียวกัน ซึ่งรวมถึงการแข็งค่าของดอลลาร์, อัตราเงินเฟ้อที่ระดับสูง, ปัญหาด้านห่วงโซ่อุปทาน และปัญหาอื่น ๆ

  • นักลงทุนไม่แน่ใจว่า ดอลลาร์จะเริ่มร่วงลงเมื่อใด ในขณะที่เฟดยังคงมีแนวโน้มว่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างแข็งกร้าวกว่าธนาคารกลางแห่งอื่น ๆ และปัจจัยดังกล่าวจะช่วยหนุนดอลลาร์สหรัฐต่อไป อย่างไรก็ดี นักลงทุนบางรายคาดว่า อาจจะมีสัญญาณบ่งชี้ว่า ดอลลาร์ได้แตะจุดสูงสุดไปแล้ว และสัญญาณดังกล่าวจะช่วยชดเชยความเสียหายที่เกิดจากการแข็งค่าของดอลลาร์ ทั้งนี้ นายจอห์น ลินช์ หัวหน้าเจ้าหน้าที่ฝ่ายการลงทุนของบริษัทโคเมริกา เวลธ์ แมเนจเมนท์กล่าวว่า ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมานี้ การแตะจุดสูงสุดของดอลลาร์มักจะตามมาด้วยการพุ่งขึ้นเฉลี่ย 10% ของดัชนี S&P 500 ในอีก 12 เดือนต่อมา ในขณะที่ตลาดหุ้นได้รับแรงหนุนจากความต้องการซื้อสินทรัพย์เสี่ยงมากยิ่งขึ้น และจากการคาดการณ์ที่ว่า ผลกำไรภาคเอกชนจะปรับสูงขึ้น

  • นักลงทุนบางรายมองว่าการแข็งค่าของดอลลาร์มีข้อดีด้วยเช่นกัน เพราะการแข็งค่าของดอลลาร์เกิดจากความเชื่อที่ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะสามารถรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้ดีกว่าประเทศอื่น ๆ ทั้งนี้ นายซาเมียร์ ซามานา นักยุทธศาสตร์การลงทุนตลาดโลกของสถาบันการลงทุนเวลส์ ฟาร์โกได้ปรับเพิ่มน้ำหนักการลงทุนในหุ้นสหรัฐในช่วงที่ผ่านมา เนื่องจากเขาคาดว่า ผลกระทบในทางลบที่เกิดจากการแข็งค่าของดอลลาร์จะถูกบดบังด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในระยะยาว--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้