ReutersReuters

ตลาดน้ำมันนิวยอร์ค:วิตกศก.ถดถอยกดน้ำมันดิบปิดดิ่งลง 8.2%

นิวยอร์ค--6 ก.ค.--รอยเตอร์

  • ราคาน้ำมันดิบในตลาดล่วงหน้า NYMEX ดิ่งลงอย่างรุนแรงในวันอังคาร ในขณะที่นักลงทุนกังวลว่า เศรษฐกิจโลกอาจจะเข้าสู่ภาวะถดถอย และจีนอาจจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่ ซึ่งจะส่งผลลบเป็นอย่างมากต่ออุปสงค์น้ำมัน ทั้งนี้ นครเซี่ยงไฮ้ของจีนประกาศว่าจะเริ่มดำเนินมาตรการตรวจหาเชื้อไวรัสโคโรนารอบใหม่ในประชากรจำนวนมากในเซี่ยงไฮ้ภายในเวลา 3 วัน เพื่อพยายามติดตามเส้นทางการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เริ่มต้นจากร้านคาราโอเกะแห่งหนึ่ง โดยประกาศดังกล่าวส่งผลให้นักลงทุนกังวลว่า จีนอาจจะประกาศมาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง

  • ราคาน้ำมันดิบสหรัฐส่งมอบเดือนส.ค.รูดลง 8.93 ดอลลาร์ หรือ 8.2% มาปิดตลาดที่ 99.50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบเบรนท์ส่งมอบเดือนก.ย.ที่ตลาดกรุงลอนดอนดิ่งลง 10.73 ดอลลาร์ หรือ 9.5% มาปิดตลาดที่ 102.77 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยการดิ่งลงในวันอังคารของทั้งราคาน้ำมันดิบสหรัฐและเบรนท์ถือเป็นการดิ่งลงครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. และส่งผลลบเป็นอย่างมากต่อหุ้นกลุ่มน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทั้งนี้ ราคาก๊าซธรรมชาติในสหรัฐดิ่งลง 4.7% ส่วนราคาน้ำมัน heating oil ในสหรัฐรูดลงราว 8% และราคาน้ำมันเบนซินสำหรับการส่งมอบที่อ่าวนิวยอร์คดิ่งลง 10.5% ในวันอังคาร

  • ราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันเพิ่มเติมจากความกังวลที่ว่า ความต้องการใช้น้ำมันเพื่อการขับขี่รถยนต์ในฤดูร้อนปีนี้อาจจะชะลอตัวลง หลังจากผ่านพ้นช่วงวันหยุดยาวเนื่องในวันชาติสหรัฐไปแล้ว นอกจากนี้ ราคาน้ำมันก็ได้รับแรงกดดันจากการพุ่งขึ้นของดอลลาร์สหรัฐด้วย ในขณะที่ความต้องการซื้อพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัยมีส่วนช่วยหนุนดัชนีดอลลาร์เมื่อเทียบกับตะกร้าสกุลเงินให้พุ่งขึ้นจาก 105.12 ในช่วงท้ายวันจันทร์ สู่ 106.79 ในระหว่างช่วงการซื้อขายวันอังคาร ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2002 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 20 ปี โดยการพุ่งขึ้นของดัชนีดอลลาร์ในวันอังคารถือเป็นการพุ่งขึ้นรายวันครั้งใหญ่ที่สุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค. 2020 ทั้งนี้ ยูโรรูดลงแตะ 1.0233 ดอลลาร์ในระหว่างวัน ซึ่งถือเป็นจุดต่ำสุดนับตั้งแต่ปลายปี 2002 หรือจุดต่ำสุดในรอบเกือบ 20 ปี ในขณะที่ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) คอมโพสิตขั้นปลายของยูโรโซนที่จัดทำโดยบริษัทเอสแอนด์พี โกลบอล ลดลงสู่ระดับ 52.0 ในเดือนมิ.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 16 เดือน จาก 54.8 ในเดือนพ.ค. โดยการดิ่งลงของดัชนีดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ธุรกิจในยูโรโซนชะลอการเติบโตลง และมีสัญญาณบ่งชี้อีกด้วยว่า เศรษฐกิจยูโรโซนอาจตกต่ำลงในไตรมาสนี้ โดยได้รับแรงกดดันจากวิกฤติค่าครองชีพ

  • อัตราเงินเฟ้อในเกาหลีใต้พุ่งขึ้นแตะ 6.0% ในเดือนมิ.ย.เมื่อเทียบรายปี ซึ่งถือเป็นจุดสูงสุดนับตั้งแต่เดือนพ.ย. 1998 หรือจุดสูงสุดในรอบเกือบ 24 ปี และรายงานตัวเลขนี้ทำให้นักลงทุนกังวลกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและอุปสงค์น้ำมันมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ราคาน้ำมันได้รับแรงหนุนในช่วงแรกของวันอังคาร ในขณะที่คนงานน้ำมันและก๊าซของนอร์เวย์ผละงานประท้วง อย่างไรก็ดี รัฐบาลนอร์เวย์ได้เข้าแทรกแซงเพื่อยุติการผละงานในเวลาต่อมา

  • ซาอุดิอาระเบียซึ่งถือเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก ได้ปรับขึ้นราคาน้ำมันดิบเดือนส.ค.สำหรับผู้ซื้อในเอเชียสู่ระดับใกล้สถิติสูงสุด ในขณะที่อุปทานน้ำมันตึงตัวและอุปสงค์แข็งแกร่ง โดยบริษัทซาอุดิ อารามโคประกาศว่า ราคาขายอย่างเป็นทางการของน้ำมันดิบอาหรับไลท์สำหรับเอเชียปรับขึ้นสู่ 9.30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเหนือราคาน้ำมันโอมาน/ดูไบในเดือนส.ค. โดยพุ่งขึ้น 2.80 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจากเดือนก.ค. และเข้าใกล้สถิติสูงสุดของค่าพรีเมียมที่เคยทำไว้ที่ 9.35 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในเดือนพ.ค. ทั้งนี้ ในส่วนของรัสเซียนั้น นายดมิทรี เมดเวเดฟ อดีตประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า ข้อเสนอของญี่ปุ่นในการกำหนดเพดานราคาน้ำมันรัสเซียที่ระดับราวครึ่งหนึ่งของราคาในปัจจุบัน จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันในตลาดปรับลดลง และอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันพุ่งขึ้นเหนือระดับ 300-400 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้