ReutersReuters

POLL:โพลล์คาดราคาน้ำมันดิบสหรัฐมีค่าเฉลี่ยปีนี้ที่ 102.82 ดอลล์

5 ก.ค.--รอยเตอร์

  • รอยเตอร์เปิดเผยผลสำรวจความเห็นนักเศรษฐศาสตร์และนักวิเคราะห์ 34 รายในวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา โดยผลสำรวจคาดว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 106.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2022 ซึ่งถือเป็นตัวเลขคาดการณ์สูงสุดสำหรับปี 2022 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 101.89 ดอลลาร์ที่เคยคาดไว้ในเดือนพ.ค. ส่วนราคาน้ำมันดิบสหรัฐอาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 102.82 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปี 2022 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมในเดือนพ.ค.ที่ 97.82 ดอลลาร์ และเทียบกับราคาน้ำมันดิบสหรัฐในวันนี้ที่ 109.72 ดอลลาร์ นอกจากนี้ โพลล์ยังคาดการณ์อีกด้วยว่า ราคาน้ำมันดิบเบรนท์อาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 95.75 ดอลลาร์ในปี 2023 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 91.59 ดอลลาร์ ส่วนราคาน้ำมันดิบสหรัฐอาจจะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 92.19 ดอลลาร์ในปี 2023 โดยปรับขึ้นจากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 87.18 ดอลลาร์

  • ราคาน้ำมันมีแนวโน้มที่จะยังคงเคลื่อนตัวเหนือระดับ 100 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลในปีนี้ ในขณะที่ยุโรปและภูมิภาคอื่น ๆ ประสบความยากลำบากในการปรับลดการใช้น้ำมันรัสเซีย อย่างไรก็ดี ปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจอาจจะส่งผลให้ราคาน้ำมันชะลอการพุ่งขึ้น ทั้งนี้ ราคาน้ำมันดิบเบรนท์มีค่าเฉลี่ยนับตั้งแต่ต้นปีนี้อยู่ที่ระดับราว 105 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และเพิ่งปิดตลาดวานนี้ที่ระดับ 113.50 ดอลลาร์ โดยได้รับแรงหนุนจากความกังวลด้านอุปทาน โดยนายโรเบิร์ต ยอว์เกอร์ ผู้อำนวยการฝ่ายสัญญาล่วงหน้าพลังงานของบริษัทมิสุโฮระบุว่า "ราคาน้ำมันดิบจะยังคงได้รับแรงหนุนต่อไป ตราบใดที่สงครามยูเครนยังคงส่งผลให้ตลาดโลกไม่สามารถเข้าถึงอุปทานน้ำมันที่จำเป็นได้"

  • สำนักงานสารสนเทศด้านการพลังงานของรัฐบาลสหรัฐ (EIA) ระบุเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนว่า กำลังการผลิตน้ำมันดิบส่วนเกินในตลาดโลกในเดือนพ.ค. 2022 อยู่ในระดับต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของค่าเฉลี่ยในปี 2021 โดยเป็นผลจากการที่ชาติตะวันตกดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย และยอดส่งออกน้ำมันของรัสเซียครองสัดส่วนราว 7% ของอุปทานน้ำมันในตลาดโลก โดย EIA ประเมินว่า กำลังการผลิตส่วนเกินในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) ดิ่งลงสู่ 3.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค. 2022 จาก 5.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.ปีก่อน ส่วนกำลังการผลิตส่วนเกินในประเทศที่อยู่นอกกลุ่มโอเปกดิ่งลง 80% ในเดือนพ.ค.เมื่อเทียบรายปี โดยดิ่งลงสู่ 280,000 บาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค.ปีนี้ จาก 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือนพ.ค. 2021 โดยรัสเซียเคยครองสัดส่วน 60% ของกำลังการผลิตส่วนเกินนี้ในเดือนพ.ค. 2021

  • นักวิเคราะห์คาดว่า อุปสงค์น้ำมันอาจเพิ่มขึ้นราว 2.3-5.0 ล้านบาร์เรลต่อวันในปีนี้ และอาจเพิ่มขึ้นราว 2.0-2.4 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2023 ในขณะที่อุปทานน้ำมันอยู่ในภาวะตึงตัว และปัจจัยดังกล่าวบดบังความกังวลเรื่องอุปสงค์ ทั้งนี้ นายซุฟโร ซาร์คาร์ นักวิเคราะห์ของธนาคารดีบีเอสระบุว่า "ราคาน้ำมันเคยได้รับแรงกดดันในช่วงที่ผ่านมาจากมาตรการล็อกดาวน์ในจีน และจากความกังวลที่ว่า ภาวะเศรษฐกิจเฉื่อยชาแต่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูง (stagflation) จะสร้างความเสียหายต่ออุปสงค์น้ำมัน อย่างไรก็ดี จีนผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคแล้วในช่วงนี้ ดังนั้นอุปสงค์น้ำมันอาจจะดีดขึ้นอีกครั้งในไตรมาสสาม" และเขากล่าวเสริมว่า "ประเทศสมาชิกโอเปกหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศในทวีปแอฟริกา ประสบความยากลำบากในช่วงที่ผ่านมาในการผลิตน้ำมันให้ได้มากเท่ากับที่โควต้ากำหนดไว้ โดยเป็นผลจากการลงทุนที่ต่ำเกินไป และด้วยเหตุนี้กำลังการผลิตส่วนเกินในกลุ่มโอเปกจึงยังคงอยู่ในระดับที่น้อยมาก"

  • นายยอว์เกอร์กล่าวว่า กลุ่มโอเปกและสหรัฐจะพยายามจำกัดปริมาณการผลิตน้ำมัน เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะราคาน้ำมันดิ่งลงสู่ระดับติดลบเหมือนที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 2 ปีก่อน--จบ--

(รอยเตอร์ โดย จิตร โพธิ์แก้ว แปลและเรียบเรียง)

((jit.phokaew@thomsonreuters.com; โทร 08-7689-6043;

เข้าสู่ระบบหรือสร้างบัญชีฟรีถาวรเพื่ออ่านข่าวนี้