BangkokBizNewsBangkokBizNews

‘อาคม’ ยันเก็บภาษีหุ้นไม่กระทบรายย่อย

'อาคม' ยันเก็บภาษีขายหุ้นไม่กระทบภาพรวมตลาด ไม่เอื้อนักลงทุนรายใหญ่ แต่สร้างความเป็นธรรมในระบบ ย้ำเก็บต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง อาคม เติมพิทยาไพสิฐ ระบุ กรณี ครม.อนุมัติกฎหมายการจัดเก็บภาษีการขายหุ้น ยืนยันว่าไม่กระทบต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เนื่องจาก ภาระภาษีการขายหุ้นของไทยนั้น ยังต่ำกว่าหลายประเทศในเอเชีย โดยภาระภาษีของเราคิดที่ 0.11% ของมูลค่าการซื้อขาย เมื่อบวกค่าธรรมเนียมค่าโบรกเกอร์คิดเป็นต้นทุน 0.22% ซึ่งต่ำกว่าฮ่องกงที่มีภาระต้นทุนรวม 0.38% มาเลเซีย 0.29% ขณะที่ สิงคโปร์อยู่ที่ 0.22% ใกล้เคียงกับไทย โดยในปีแรกของการบังคับใช้รัฐบาลจะกำหนดอัตราภาษีที่ต่ำ คิดเพียง 0.055% ของมูลค่าการขาย และหากรวมค่าธรรมเนียมของโบรกเกอร์ผู้ขายจะมีภาระรวม 0.195% เท่านั้น

ทั้งนี้ ภาษีตัวนี้ไม่ใช่ภาษีที่เก็บจาก Capital gain หรือกำไรจากการขายหุ้น ซึ่งบางประเทศก็จัดเก็บภาษีตัวนี้ด้วย แต่สำหรับไทยเก็บเฉพาะภาษีการขาย ซึ่งสะดวกในการคำนวณ และไม่เป็นภาระกับนักลงทุนมาก ทั้งนี้ เมื่อผู้ขายหุ้นเสียภาษีโดยมีบริษัทหลักทรัพย์เป็นผู้ยื่นนำส่งภาษีไปแล้ว ไม่จำเป็นต้องนำรายได้มายื่นคำนวณรวมในสิ้นปีอีกครั้ง(Final tax)

นอกจากนี้ ภาษีตัวนี้ยังมีข้อยกเว้นกรณีที่เป็นการขายโดยกองทุนเพื่อการเกษียณอายุ ทั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) ประกันสังคม กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ และรวมถึง Market Maker ซึ่งในที่นี้หมายถึงนักลงทุนที่จดทะเบียนเป็นบริษัทหลักทรัพย์ ไม่ใช่นักลงทุนรายใหญ่ตามที่เข้าใจกัน ซึ่ง Market Maker ช่วยสร้างสภาพคล่องในตลาด

ทั้งนี้ การซื้อขายในตลาดหุ้นนั้น 11% ของผู้ซื้อขายเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่เป็นกลุ่มสถาบัน ซึ่งครอบคลุมมูลค่าการซื้อขาย 95% ของตลาด อีก 89% เป็นนักลงทุนรายย่อย ที่มีมูลค่าการซื้อขายประมาณ 5% ของตลาด

สำหรับระบบการจัดเก็บภาษีหุ้นมี 2 แบบ คือ

1.เก็บจากกำไรจากการขายหุ้น

2.เก็บเป็นภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขาย

ซึ่งไทยเลือกแนวทางที่ 2 ซึ่งกำหนดอัตราภาษีนี้แล้วตั้งแต่ปี 2535 แต่ได้ยกเว้นมาตลอดเพื่อส่งเสริมตลาดหลักทรัพย์ให้เข้มแข็ง วันนี้ตลาดหลักทรัพย์ไทยโตกว่า 20 เท่าของอดีต ดังนั้นเพื่อสร้างความเสมอภาคระหว่างคนที่ทำมาค้าขายทั่วไปกับนักลงทุนที่ซื้อขายหุ้นในตลาดไม่ให้แตกต่าง

จึงสมควรให้มีการจัดเก็บภาษีตัวนี้กรมสรรพากร จะจัดเก็บจากการขายหุ้นตั้งแต่บาทแรก ของรายได้จากการขาย ซึ่งคาดว่ากรมสรรพากรจะมีรายได้จากภาษีนี้ 15,000-16,000 ล้านบาท ใน 6 กรณีจัดเก็บภาษีตัวนี้ในอัตรา 0.11 % โดยปีแรกของการจัดเก็บภาษีตัวนี้ในปี 2566 กระทรวงการคลังจะจัดเก็บภาษีในอัตรา 0.055% (รวมภาษีท้องถิ่นแล้ว) และในปีถัดมาคือปี 2567 จะจัดเก็บเต็มเพดานที่กฎหมายกำหนดคือ 0.11% โดยกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้หลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว 90 วัน เพื่อให้นักลงทุนรับทราบข้อมูลอย่างทั่วถึง คาดว่าเริ่มใช้ไตรมาส 2 ปี 2566

พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์