BangkokBizNewsBangkokBizNews

“ลิเบอเรเตอร์” มุ่งโบรกดิจิทัล ชูจุดเด่น “เจ้าแรก” เทรดหุ้นไร้ค่าคอม

“ลิเบอเรเตอร์” มุ่งโบรกดิจิทัล ชูจุดเด่นเป็น ‘เจ้าแรก’ ที่มีการเก็บค่าคอม 0% ต่อธุรกรรม ลั่นภายใน 3 ปี มั่นใจรายรับจะคัฟเวอร์รายจ่าย หลังเข้าสู่ช่วงเก็บเกี่ยวรายได้ลงทุน

เมื่อเดือนพ.ย. 2565 ! สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้อนุญาตให้ บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด หรือ LIB ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์แบบครบวงจร และตัวแทนธุรกิจสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดย บล.ลิเบอเรเตอร์ เป็นบริษัทในเครือของ บริษัท นิวส์ เน็ตเวิร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ NEWS โดยการซื้อใบอนุญาตธุรกิจหลักทรัพย์จากบริษัทหลักทรัพย์ เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ จำกัด

บล.ลิเบอเรเตอร์ ถือเป็นโบรกเกอร์น้องใหม่ที่ ก.ล.ต. เพิ่งอนุมัติรับเข้าไปเป็นสมาชิกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) และสร้างเสียงฮือฮา...ในแวดวงโบรกเกอร์ได้ไม่เบาทีเดียว ! โดยเฉพาะการประกาศไม่เก็บค่านายหน้าซื้อขายหุ้น หรือ “ค่าคอมมิชชัน 0%” เพื่อเปิดกว้างและปรับเปลี่ยนโลกการลงทุนให้ทุกกลุ่มสามารถลงทุนซื้อ-ขายหลักทรัพย์ได้ด้วยตนเองภายใต้แอปพลิเคชันชื่อ “Liberator” 

ก่อนอื่น...อยากจะบอกว่า บล.ลิเบอเรเตอร์ ไม่ได้เกิดมาเพื่อฆ่าคนอื่นๆ !! “ภาวลิน ลิมธงชัย” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ ลิเบอเรเตอร์ จำกัด หรือ LIB ให้สัมภาษณ์ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ยอมรับช่วงแรกๆ นักลงทุนอาจจะมีความรู้สึกว่ากระทบต่อภาพรวมจากคำว่า “คอมฟี 0%” แต่เชื่อว่าเมื่อระยะเวลาผ่านไปทุกอย่างจะชัดเจนขึ้นว่า บล.ลิเบอเรเตอร์ “แตกต่าง” จากโบรกรายเดิมๆ เนื่องจากจะไม่มี “มาร์เก็ตติ้ง” มีแต่ข้อมูลที่จะคอย “ซัพพอร์ต” (support) ให้เท่านั้น 

ดังนั้น เชื่อว่าต่อไปนักลงทุนจะแยกตลาดออกชัดเจน ซึ่ง บล.ลิเบอเรเตอร์ จะเป็นแค่หนึ่งในทางเลือกของนักลงทุน โดยเฉพาะนักลงทุนหน้าใหม่ ที่สามารถลงทุนด้วยเอง ไม่ต้องพึ่งพิงมาร์เก็ตติ้ง ขณะที่นักลงทุนที่เลือกลงทุนรูปแบบการมีมาร์เก็ตติ้งก็เลือกใช้บริการโบรกเกอร์แบบเดิมได้ 

“เราอยากจะบอกว่าอุตสาหกรรมโบรกเกอร์อย่ามองว่าเราจะเข้ามาฆ่าคนอื่นๆ แต่ให้มองว่าเราจะเข้ามาเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของนักลงทุนเท่านั้น เพราะอนาคตตลาดก็จะแยกออกชัดเจน ลูกค้าที่ยังชอบการลงทุนผ่านโบรกเดิมก็เลือกทางนั้น ส่วนลูกค้าที่ลงทุนได้เองก็เลือกเรา” 

BangkokBizNews
ทั้งนี้ แนวคิด (Mindset) ของ บล.ลิเบอเรเตอร์ ไม่ได้ตั้งใจที่จะทำธุรกิจโบรกเกอร์แบบเดิมๆ แต่ตั้งใจที่จะเป็น “โบรกเกอร์ดิจิทัล” โดยใช้เทคโนโลยีมาใช้ในการดำเนินการ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดบัญชี หรือการซื้อขาย โดยที่ไม่มีเจ้าหน้าที่การตลาด และจากจำนวนบัญชีที่มีการซื้อขายหุ้นที่ไม่ซ้ำกัน ทั้งหมด 3.2 ล้านคน เป็นนักลงทุนเทรดออนไลน์ 2 ล้านคน และในจำนวนนี้เป็นบัญชีที่มีการซื้อขายสม่ำเสมอ (active) 5-7 แสนคนต่อเดือน โดยปัจจุบัน บล.ลิเบอเรเตอร์ มีลูกค้าเข้ามาสมัครกว่า 1,000 คนแล้ว 

โดยคาดหวังว่าหลังจากเปิดตัว Application Liberator เมื่อวันที่ 19 ม.ค. ที่ผ่านมา เพื่อให้บริการเต็มรูปแบบในตลาดแล้ว ตั้งเป้าหมายมีลูกค้าเข้ามาเป็นสมาชิกเพิ่มมากขึ้นประมาณ 10% ของนักลงทุนที่เป็นบัญชี active อยู่ที่ 5-7 แสนคน หรือคิดเป็นราว 50,000 คน ซึ่งมองว่าคนไทยมีประมาณ 70 ล้านคน ดังนั้น โจทย์ใหญ่ของเราคือการทำยังไงให้ลูกค้าลงทุนได้ง่ายๆ ไม่ยุ่งยากและซับซ้อน และสามารถศึกษาข้อมูลต่างๆ ด้วยตัวเองได้ 

“ภาวลิน” บอกว่า สำหรับแผนธุรกิจในช่วง 3 ปีข้างหน้า (2566-2568) แบ่งออกเป็นเฟสแรก (ม.ค.-มี.ค.66) บนแอปพลิเคชันให้บริการซื้อขาย “หุ้น-สัญญาซื้อขายล่วงหน้า (TFEX)” ก่อน และในเฟส 2 (เม.ย. เป็นต้นไป) จะให้บริการมาร์จิน และการเป็นคัสโตเดียนให้กับธุรกิจ P2P Lending (ให้บริการโดย StockLend) ซึ่งเป็นการนำหุ้นบริษัทใน SET100 มาค้ำประกัน เพื่อสามารถกู้เงินไปลงทุนหรือต่อยอดธุรกิจได้ 

รวมทั้งการเป็น “ผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่าย” หรือ Lead Underwriters ของการเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) โดยคาดว่าในปีนี้จะมีไอพีโอตัวแรกที่เข้าดำเนินการ และคาดว่าในช่วงไตรมาส 3 และไตรมาส 4 ปี 2566 จะมีการให้บริการขายกองทุนและการลงทุนในหุ้นต่างประเทศ 

สำหรับ “จุดแข็ง” ของ บล.ลิเบอเรเตอร์ จะเน้นการให้บริการซื้อขายผ่านระบบอินเทอร์เน็ต โดยไม่มีค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหลักทรัพย์ต่อธุรกรรม เมื่อเทียบกับโบรกเกอร์ในระบบที่มีค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยอยู่ที่ 0.7-0.8% หรือหากจะคิดค่าบริการจะคิดในรูปแบบรายปี ที่ทำให้นักลงทุนรู้สึกว่าได้ความคุ้มค่าหากใช้บริการ โดยจะต้องมีความพิเศษให้กับลูกค้า หรือ การเป็นสมาชิกระดับพรีเมียม (Premium Member) เพื่อให้นักลงทุนหน้าใหม่เข้ามาในตลาดมากขึ้นอย่างเท่าเทียม

และจะไม่หยุดแค่การเป็นโบรกเกอร์ที่ลงทุนในสินทรัพย์ประเภทหุ้นและสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเท่านั้น เพราะบล.ลิเบอเรเตอร์จะต่อยอดการลงทุนในนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ เช่น P2P Lending โดย Mindset ของคนในทีมมาจากสายเทคโนโลยี (Tech) ดังนั้น จะมีการปรับตัวในการทำงานได้รวดเร็ว และเมื่อมีรูปแบบการลงทุนใหม่ๆ ก็สามารถปรับตัวได้เร็ว 

“ให้มองเราคล้ายๆ แบงก์รูปแบบเดิมกับดิจิทัลแบงก์ ซึ่งแบงก์รูปแบบเดิมการปรับตัวต้องใช้เวลาพอสมควร แต่หากมี Mindset ที่เริ่มต้นจากการเป็นโบรกเกอร์ดิจิทัล ที่ไม่มีสาขา พนักงานไม่มาก ต้นทุนไม่สูงหากเทียบกับคนอื่นๆ ดังนั้น เวลาจะปรับตัวหรือแก้ไขเพื่อให้ธุรกิจมีความยืดหยุ่นจะสามารถทำได้รวดเร็วมาก” 

อย่างไรก็ตาม เป้าหมายในแผนธุรกิจช่วง 1-2 ปีแรก จะเป็นช่วงของ “การลงทุน” เพื่อการพัฒนาแพลตฟอร์ม เพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งแผนอนาคตจะเป็นการหารายได้จากการมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มของเรามากยิ่งขึ้น และการให้น้ำหนักในเรื่องของการทำตลาด เพื่อให้ “ยูสเซอร์” (User) รู้จักให้มากยิ่งขึ้น 

ดังนั้น ในมุมของรายได้คงไม่ได้เข้ามาคัฟเวอร์รายจ่ายในปีนี้ ซึ่งในปีนี้รายได้สู้รายจ่ายไม่ได้อย่างแน่นอน แต่จะเห็นในมุมของโอกาสของการสร้างการเติบโตและต่อยอดธุรกิจไปในอนาคต ตามจำนวนของยูสเซอร์ (User) ที่ บล.ลิเบอเรเตอร์ตั้งเป้าหมายเข้ามาให้ได้มากที่สุด 

ส่วนรายได้ของบริษัทในปี 2566 จะมาจากการเป็นคัสโตเดียนให้กับธุรกิจ P2P Lending ซึ่งคาดว่ารายได้จะเข้ามาในไตรมาส 2 ปี 2566 รวมถึงรายได้มาร์จิน และจากการเป็นลีดขายหุ้น IPO , กองทุน และการซื้อขายหุ้นต่างประเทศ 

“ยอมรับในปีแรกๆ จะทุ่มลงทุนสร้างแอปพลิเคชันและทำให้คนรู้จักมากยิ่งขึ้น แต่ในปีที่ 3 จะเป็นช่วงของการเก็บเกี่ยวรายได้หลังจากลงทุนไปแล้ว แต่ก็มองว่าเป็นการทำให้เห็นว่ามีโอกาสสร้างการเติบโตที่จะเข้ามาในอนาคตมากกว่า ส่วนค่าคอมเป็น 0% ไม่ได้กระทบรายรับรายจ่ายของบริษัท” 

ท้ายสุด “ภาวลิน” บอกว่า เรามีการทำแผนธุรกิจไว้ โดยตั้งเป้าว่าในปีแรกของการทำธุรกิจจะเป็นการลงทุนเพื่อการตลาดทำให้คนรู้จัก และเข้ามามากที่สุด ขณะที่เป้าหมายรายได้วางไว้ภายใน 3 ปี รายได้ต้องคัฟเวอร์รายจ่ายต่อเดือนแน่นอน