BangkokBizNewsBangkokBizNews

Factor Investing ทางเลือกใหม่การลงทุน ต่อยอดพัฒนาดัชนี-กองทุน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท. ) จัดงาน Capital Market Research Forum ครั้งที่ 1/ 2566 หัวข้อ “การเชื่อมโยงงานวิจัยด้าน Factor Investing ให้ตอบโจทย์ธุรกิจตลาดทุน” 

ตลท. ได้มีการศึกษาเกี่ยวกับ Factor Investing ซึ่งเป็นรูปแบบหรือเป็นสไตล์การลงทุนที่มีคาแรคเตอร์โดดเด่น สามารถใช้เป็นเครื่องมีการวิเคราะห์และวิจัย ต่อยอดการลงทุนได้

อย่างเช่นที่ผ่านมา ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ฯ ตลท. ได้เคยศึกษาและนำเสนอแนวคิดการลงทุนประเภท Thematic Investment อ้างอิงกับ Factor ต่างๆ พบว่ามีธีมการลงทุนที่โดดเด่นในหุ้นไทยหลากหลาย เช่น กลุ่มหุ้นเติบโต (Growth Stock) กลุ่มหุ้นคุณค่า (value stock) กลุ่มหุ้นขนาดกลางและเล็ก (Small และ Mid Cap) กลุ่มหุ้นผันผวนต่ำ (Low Volatility) เป็นต้น ถือเป็นแอพพลิเคชั่นหนึ่งของการใช้ฐานข้อมูลที่เกี่ยวกับ Factor Investing ในการตัดสินใจลงทุน

BangkokBizNews

"ศรพล ตุลยสถียร” รองผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า เราเชื่อว่าถ้าตลาดทุนไทยได้มีการพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับ Factor Investing เอาไว้และเปิดโอกาสให้กับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นนักวิจัย ผู้มีส่วนร่วมในตลาด และนักศึกษาสามารถดาวน์โหลดข้อมูลเกี่ยวกับ Factor Investing นำไปใช้ในการศึกษา และวิเคราะห์วิจัยต่อยอดพัฒนาการลงทุนทางด้านนี้ ได้ง่ายขึ้นและมีข้อมูลที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้นเรื่อยๆ

ทั้งนี้ Factor Investing เป็นแนวคิดที่มีการศึกษาอย่างกว้างขวางและมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องในภาควิชาการ ขณะที่ในภาคธุรกิจได้นำมาใช้อย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในตลาดหุ้นประเทศที่พัฒนาแล้ว มีหลายผลิตภัณฑ์ที่อ้างอิง Factor (ปัจจัย) ที่โดดเด่นและตอบโจทย์ความตัองการของผู้ลงทุน 

 ในส่วนของตลาดหุ้นไทย การทำในลักษณะนี้อาจยังไม่แพร่หลายนัก แต่การพัฒนาฐานข้อมูลครั้งนี้ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะทำให้เกิดทางเลือกการลงทุนมากขึ้นในอนาคตในระยะถัดไปอาจนำไปสู่การพัฒนาดัชนี ( Index ) ใหม่ๆ และตัวชี้วัดเกณฑ์ต่างๆ รวมถึงใช้เป็นเกณฑ์มาตรฐานที่ใช้เปรียบเทียบผลการดำเนินงาน (Benchmark) ของกองทุนรวมหรือผลตอบแทนจากการลงทุนในลักษณะอื่นๆด้วย

“การพัฒนาฐานข้อมูลเกี่ยวกับ FactorInvesting"สอดคล้องกับพันธกิจของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่มองว่า ข้อมูลต่างๆ ในตลาดทุนจะเป็นตัวช่วย โดย Factor Investing ครั้งนี้ ถูกสร้างจากฐานข้อมูลดิบของตลาดทุน เช่น การเคลื่อนไหวของราคา งบการเงิน และมีการประยุกต์นำทฤษฏีต่างๆ มาใช้สอบทาน ทำให้สามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อีกหลายขั้นตอนจน ห้องสมุดข้อมูลปัจจัยขับเคลื่อนผลตอบแทนหุ้น (Factor Data Library) ซึ่งที่ผ่านมาตลท.ส่งเสริมด้านเครือข่าย ในการศึกษาวิจัยด้านตลาดทุนมาโดยตลอด”

รศ.ดร. คณิสร์ แสงโชติ คณะพาณิชยศาสตร์ และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า “ปัจจัย” (factors) ที่ส่งผลต่อผลตอบแทนของหุ้นสามัญในที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรืออาจเรียกได้ว่าแบบจำลองกำหนดราคาสินทรัพย์ (asset pricing model) จึงมีความสำคัญในการตัดสินใจทางการเงิน

เพราะสามารถวัดผลตอบแทนที่เหมาะสม และอธิบายที่มาถึงผลตอบแทนสินทรัพย์เสี่ยงหรือสินทรัพย์อื่นๆ ได้ ภายใต้ Factor Data Library ประกอบด้วย 9 ปัจจัยพื้นฐานที่นักวัจัยทั่วโลกยอมรับและมีนัยสำคัญต่อผลตอบแทน โดยที่ผ่านมาภาคธุรกิจในต่างประเทศ ได้นำผลลัพธ์ของงานวิจัยมาประยุกต์ใช้เพื่อหากลยุทธ์ในการลงทุนได้ผลลัพธ์ที่ดีขึ้น อย่างเช่น smart Beta ETF เป็นต้น

Factor Data Library ช่วยให้นักวิจัยเข้าใจความเป็นไปที่เกิดขึ้นในตลาดทุนได้มากขึ้นอีกก้าวหนึ่ง และใช้เป็นเครื่องมือในการทดสอบหากต้องสร้างปัจจัยใหม่ให้เป็นที่ยอมรับ อีกทั้งยังสามารถใช้วัดผลประกอบการของบริษัทได้ ดังนั้น หุ้นที่มี ESG หุ้นที่มีผู้บริหารในลักษณะแบบนี้ สามารถให้ผลตอบแทนดีจริงหรือไม่ ก็สามารถนำมาทดสอบกับปัจจัยพื้นฐานนี้ได้ เพราะถ้าหาก Factorไม่สามารถอธิบายได้แสดงว่า สิ่งที่เรากำลังวิเคราะห์มีเหตุ ที่น่าจะทำให้นักลงทุน มีความกังวล ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการและผลตอบแทนของหุ้นเหล่านั้น

"กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ" ผู้บริหารฝ่ายกลยุทธ์ผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า ปัจจุบันสินทรัพย์ภายใต้การบริหารจัดการ (AUM) ทั่วโลกที่เกี่ยวข้อง ทางด้าน Factor Investing ราว 1.5 ล้านล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เม็ดเงินที่ลงทุนในสหรัฐและยุโรป เพราะตลาดประเทศพัฒนาแล้ว ได้เปลี่ยนแนววิธีคิด และสไตล์การลงทุน เป็น Factor Investing ด้วยราคาต้นทุนที่ต่ำ ให้ผลตอบแทนที่ดีขึ้น 

ขณะที่ฝั่งเอเชียและไทย สไตล์การลงทุนยังเป็น Active investing ไม่ชอบลงทุนตามดัชนี ทำให้สไตล์การลงทุนแบบ Factor Investing ยังไม่แพร่หลาย ดังนั้นมองว่า หากสามารถใช้ฐานข้อมูล Factor Investing ครั้งนี้สร้างเป็นดัชนีใหม่สไตล์ไทย ไม่ว่าจะเป็นหุ้นโมเนตัมหรือหุ้นคุณค่า 

ผู้จัดการกองทุนสามารถนำมาใช้อ้างอิงพัฒนาธีมการลงทุนใหม่ หรือกองทุนใหม่ เผยแพร่ให้นักลงทุนเห็นคาเรคเตอร์ในแต่ละช่วงของตลาดที่ชัดเจนและเหมาะสมกับจังหวะที่การลงทุนได้ ในรูปแบบที่ปรึกษาการลงทุนแนะผู้ลงทุนเป็นลักษณะของการจัดพอร์ตการลงทุน 

 "มองว่า แนวทางการพัฒนาในรูปแบบนี้น่าจะช่วยให้เกิดการลงทุน Factor Investing อย่างแพร่หลายในไทยและมีเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดไทยมากขึ้นในอนาคต "