BangkokBizNewsBangkokBizNews

FX Futures VS Spot

ในครั้งก่อน ได้กล่าวถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ของ TFEX ที่เพิ่งเปิดซื้อขายเมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งก็คือ สัญญาซื้อขายล่วงหน้าที่อ้างอิงกับอัตราแลกเปลี่ยน (FX Futures) 2 สัญญา ได้แก่ EUR/USD Futures และ USD/JPY Futures

ในครั้งนี้ จึงอยากขอขยายความเพื่อสร้างความเข้าใจ ให้กับท่านที่ยังไม่เคยซื้อขายใน TFEX ให้เข้าใจมากขึ้นว่า การซื้อขาย FX Futures ต่างจากการซื้อขายอัตราแลกเปลี่ยน (FX) ปกติที่เรียกว่าการซื้อขาย Spot FX อย่างไร

การซื้อขายเงินตราต่างประเทศในตลาด Spot สำหรับบุคคล/นิติบุคคลทั่วไปมีหลายรูปแบบ ได้แก่ การแลกเงินกับธนาคารพาณิชย์ ไม่ว่าจะเป็นที่ Counter ของธนาคารพาณิชย์หรือซื้อขายออนไลน์ หรือบัตรเติมเงิน (Travel Card) ซึ่งเป็นการซื้อขายแลกเปลี่ยน 2 สกุลเงินในทันที

ในขณะที่ FX Futures เป็นการทำสัญญาเพื่อจะซื้อหรือขายในอนาคต แต่กำหนดหรือล็อคอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินไว้ในวันนี้ ดังนั้น FX Futures จึงเหมาะกับผู้ที่ยังไม่จำเป็นต้องใช้เงินต่างประเทศในทันที หรือมีแผนจะใช้เงินนั้นในอนาคต เช่น ธุรกิจนำเข้า-ส่งออก และต้องการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนนั้นไม่ว่าจะอ่อนค่าหรือแข็งค่าขึ้น นอกจากนี้ FX Spot และ FX Futures ยังมีความแตกต่างอื่นๆ อีกหลายประเด็น

ประเด็นแรกเรื่องของราคา เนื่องจาก FX Spot จะเป็นการแลกเงินในทันที ใช้เงินเต็มจำนวนในการทำธุรกรรม แต่ FX Futures เป็นการกำหนดราคาซื้อขายกันไว้ในวันที่ตกลงทำสัญญากันยังไม่ได้เกิดธุรกรรมรับส่งมอบกันในวันที่ตกลงแต่จะเกิดในอนาคต

ดังนั้น ผู้ลงทุนไม่ต้องใช้เงินเต็มจำนวนแต่จะใช้เพียงเงินหลักประกัน (Margin) ส่วนหนึ่งเท่านั้น และราคาที่ตกลงกันนี้เรียกว่าราคาอนาคตหรือราคาฟิวเจอร์ โดยราคาฟิวเจอร์นี้ยังได้รับอิทธิพลจากปัจจัยอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ทิศทางของค่าเงินอันอาจมาจากสภาพเศรษฐกิจของแต่ประเทศหรือความแตกต่างของอัตราดอกเบี้ยของสองสกุลเงิน ซึ่งอาจทำให้ราคาฟิวเจอร์สูงหรือต่ำกว่าราคา Spot ได้

ประเด็นที่สอง การซื้อขาย FX Futures นั้นจะทำการซื้อขายผ่านศูนย์ซื้อขายหรือ Exchange ที่เป็นทางการ โดยมีการกำหนดสัญญาให้เป็นมาตรฐาน เช่น ขนาดของสัญญาและวันหมดอายุ เป็นต้น นอกจากนี้ การซื้อขาย FX Futures จะสามารถทำได้ทั้งการซื้อและขาย โดยไม่จำเป็นต้องถือครองเงินสกุลต่างประเทศก่อน จึงมีความคล่องตัวในการใช้ FX Futures เพื่อจัดการความเสี่ยงหรือสร้างผลกำไรได้ทั้งขาขึ้นและขาลง

ในขณะที่การซื้อขาย FX Spot นั้น ผู้ลงทุนจำเป็นต้องมีเงินสกุลต่างประเทศก่อนจะขายได้ และผู้ลงทุนอาจจะมีกระแสเงินออกที่เกิดจากค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องหลังจากทำการแลกเงินแล้ว เช่น FX Spot ที่มีการแลกเงินจริงแล้วเก็บไว้ในบัญชีสกุลเงินต่างประเทศ (FCD) อาจจะมีค่าใช้จ่าย/ค่าธรรมเนียมในการฝากถอน การโอน หรือการรักษาบัญชี หรือหากเป็นการซื้อผ่าน OTC Platform มักจะมีค่า Swap ในกรณีที่ถือ Position ข้ามวัน

อีกประเด็นที่ผู้เริ่มซื้อขาย FX Futures ใน TFEX ควรทำความเข้าใจ คือ การบริหารจัดการเงินประกันอันเกิดจากการถือครอง FX Futures กล่าวคือ การซื้อขาย FX Spot ที่เป็นการทำธุรกรรมแลกเงินในทันที หลังทำธุรกรรมแล้วก็เสร็จสิ้น จะไม่มีกระแสเงินสดไหลเข้าออกอีก แม้ว่า FX Spot ที่ถือไว้จะอ่อนค่าลง หรือแข็งค่าขึ้น ส่งผลให้มีกำไรขาดทุนจากการถือครอง (unrealized gain or loss) โดยจะเกิดกระแสเงินสดอีกครั้ง เมื่อมีการทำธุรกรรมแลกเงินจริง และส่งผลให้เกิดกำไรหรือขาดทุนจริงจากการแลกเปลี่ยนเงินตรา

ในขณะที่ FX Futures นั้น เป็นการซื้อขายค่าเงินล่วงหน้า หลังจากที่มีการทำธุรกรรมซื้อหรือขายแล้ว การถือครองฐานะสัญญาซื้อขายล่วงหน้าไม่ว่าจะด้านซื้อหรือขาย ก็จะมีกลไกการคำนวณกำไรขาดทุนทุกวัน ที่เรียกว่า Mark to Market เพื่อประเมินว่า FX Futures ที่ถือครองอยู่มีกำไรหรือขาดทุน ซึ่งจะมีการหัก หรือเพิ่มเงินประกันจากกำไร หรือขาดทุนนี้ในบัญชีหลักประกันของผู้ลงทุนทุกวัน

หากเกิดผลขาดทุนไปจนระดับหนึ่งที่ต่ำกว่าระดับที่เรียกว่า อัตราหลักประกันรักษาสภาพ (Maintenance Margin) ผู้ลงทุนก็จะต้องนำเงินมาวางประกันเพิ่มเติม มิเช่นนั้น ก็จะถูกบังคับปิดสัญญารับรู้กำไรขาดทุนจริง ดังนั้น ในแง่ของการซื้อขาย FX Futures ผู้ซื้อขายจึงต้องรู้จักการบริหารจัดการเงินประกัน เพื่อให้สามารถมีเงินประกันเพียงพอและไม่ซื้อขายมากเกินไป (Overtrade)

สำหรับสินค้าใหม่ใน TFEX ทั้ง EUR/USD Futures และ USD/JPY Futures นั้น เป็นคู่สกุลเงินที่ได้รับความนิยมทั้งในและต่างประเทศ ดังนั้น ผู้สนใจซื้อขายจึงอาจใช้การเทียบเคียงราคากับตลาดอนุพันธ์ต่างประเทศ เช่น ตลาด Chicago Mercantile Exchange (CME) ในสหรัฐเพื่อใช้เป็นข้อมูลในการพิจารณาถึงทิศทางการเคลื่อนไหวของราคาได้สะดวก เนื่องจาก TFEX FX Futures มีการเสนอราคาซื้อขายเป็นสกุลต่างประเทศเช่นเดียวกัน

โดยใน CME นั้น จะมีสัญญา M6E Micro EUR/USD และ M6J Micro USD/JPY ซึ่งเป็น FX Futures เช่นกัน นอกจากนี้ ผู้ลงทุนยังอาจใช้การติดตามราคาการเคลื่อนไหวในตลาด Spot เพื่อประกอบการตัดสินใจได้ ตัวอย่างแหล่งที่มีข้อมูล FX ได้แก่ Refinitiv, Investing.com หรือ Trading View เป็นต้น

ผู้ลงทุนที่สนใจซื้อขาย FX Futures ใน TFEX สามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.tfex.co.th หรือ Facebook: TFEX Station รวมทั้งยังสามารถลงทะเบียนเข้าร่วม Workshop “สอนเทรด TFEX FX Futures แบบ Step-by-Step ด้วยเครื่องมือ MT4” ในงาน SET in the City 2022 ที่จะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 5 – 6 พ.ย. นี้ ได้ที่ www.set.or.th